ช่องว่างทางรายได้ แรงงานนอกระบบชาย-หญิงในไทย

05 มิ.ย. 2562 | 06:35 น.

แรงงานนอกระบบถือเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทย จากข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ปี 2018 พบว่าจากจำนวนแรงงานไทยผู้ทำงานทั้งหมด 38.3 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบถึง 21.2 ล้านคน คิดเป็น 55.3% ของแรงงานผู้ทํางานทั้งหมด โดยนิยามของ “แรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทํางาน” (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2018, หน้า 3) 

แรงงานนอกระบบแบ่งออกเป็นเพศชาย 55.2% เพศหญิง 44.8% ส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ที่ระดับประถมศึกษาหรือตํ่ากว่าและทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม

จากผลการสำรวจพบว่า ปัญหาด้านรายได้เป็นปัญหาหลักที่แรงงานนอกระบบประสบอยู่และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากที่สุด โดยจากผลสำรวจรายได้ในรูปค่าจ้างหรือเงินเดือนของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ (เก็บข้อมูลเฉพาะผู้มีสถานภาพการทํางานเป็นลูกจ้าง) พบว่าขณะที่ค่าเฉลี่ยรายได้ระหว่างแรงงานในระบบเพศชาย-หญิงมีค่าที่ไม่แตกต่างกันมากนัก (เพศชาย-รายได้ 15,001 บาท, เพศหญิง-รายได้ 15,012 บาท) ช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานนอกระบบเพศชาย-หญิงนั้นมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 1,019 บาท (เพศชาย-รายได้ 6,885 บาท, เพศหญิง-รายได้ 5,866 บาท)

ทั้งนี้ งานวิจัยของ Paweenawat, Vechbanyongratana, and Yoon (2017) ได้ทำการศึกษาประเด็นนี้ โดยได้พยายามทำการศึกษาและเปรียบเทียบช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานทั้งในและนอกระบบเพศชาย-หญิง ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Household Socio-Economic Survey: SES) ในช่วงปี 2007-2015 ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานที่มีงานทำและมีอายุในช่วงระหว่าง 15-60 ปี

มีการรายงานรายได้จากการทำงานหรือจากการประกอบธุรกิจส่วนตัว และมีสถานภาพเป็นลูกจ้างในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน หรือ ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง โดยตามนิยามของกระทรวงแรงงานสามารถจำแนกแรงงานในภาคเศรษฐกิจออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.แรงงานในระบบ ประกอบไปด้วยแรงงานในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ที่ได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมหรือได้รับสวัสดิการตามที่นายจ้างจัดหาให้ และ 2. แรงงานนอกระบบ ประกอบไปด้วยแรงงานที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ในบริษัทเอกชนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมหรือได้รับสวัสดิการตามที่นายจ้างจัดหาให้

จากข้อมูล พบว่าสัดส่วนจำนวนแรงงานนอกระบบอยู่ที่ 30-60% ของแรงงานทั้งหมด โดยสัดส่วนจำนวนแรงงานมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค ภาคใต้มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบสูงที่สุด (60%) ขณะที่กรุงเทพฯมีสัดส่วนแรงงานนอกระบบน้อยที่สุด (40%) สัดส่วนแรงงานนอกระบบเพศหญิงในแต่ละภูมิภาคนั้นมีค่าไม่แตกต่างกันมากนักและมีแนวโน้มสัดส่วนที่คงที่ในช่วงปีที่ศึกษา (40-50%)

ผลการศึกษาเบื้องต้นของ Paweenawat, Vechbanyongratana, and Yoon (2017) พบว่า ช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานในระบบเพศชาย-หญิงมีแนวโน้มที่มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง (ภาพที่ 1) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของงานวิจัยที่ผ่านมาที่มีการศึกษาแนวโน้มช่องว่างระหว่างรายได้ของแรงงานเพศชาย-หญิงในภาพรวม โดยการใช้ข้อมูลการสํารวจภาวะการทํางานของประชากร (Labor Force Survey: LFS)

ยกตัวอย่าง เช่น งานวิจัยของ Nakavachara (2010) พบว่าแนวโน้มช่องว่างระหว่างรายได้ของแรงงานเพศชาย-หญิงในภาพรวมมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 1985-2005 โดยระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นปัจจัยผลักดันหลักในการลดขนาดช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศชาย-หญิงในประเทศ

งานวิจัยของ Liao and Paweenawat (2019) ซึ่งได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมในช่วงปัจจุบัน พบว่าในช่วงปี 1985-2017 แนวโน้มช่องว่างระหว่างรายได้ของแรงงานเพศชาย-หญิงในภาพรวมยังคงมีการลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยนอกเหนือจากระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วนั้น ภาคอุตสาหกรรมที่แรงงานหญิงไทยทำงานอยู่และอาชีพของแรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดการลดลงของช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานเพศชาย-หญิงในประเทศไทย

นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยของ Paweenawat, Vechbanyongratana, and Yoon (2017) ได้มีการแยกพิจารณากลุ่มแรงงานนอกระบบ พบว่าแม้ว่าแนวโน้มของรายได้ของทั้งเพศชาย-หญิงจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2007-2015 โดยคาดว่าเป็นผลจากการเกิด Spillover effect ในทางด้านรายได้จากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นตํ่าของแรงงานในระบบซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่ช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานนอกระบบเพศชาย-หญิงมีแนวโน้มที่คงที่ ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกลุ่มแรงงานในระบบ โดยยังมีช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานนอกระบบเพศชาย-หญิงอยู่ค่อนข้างสูงและไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก (ภาพที่ 1)
 

ภาพที่ 1 ช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานเพศชาย-หญิงในประเทศไทย

ช่องว่างทางรายได้  แรงงานนอกระบบชาย-หญิงในไทย

ที่มา - Paweenawat, Vechbanyongratana, and Yoon (2017)

 

ทั้งนี้ จากการประมาณค่าพบว่า รายได้ของแรงงานนอกระบบเพศหญิงยังคงอยู่ในระดับตํ่ากว่ารายได้ของแรงงานนอกระบบเพศชาย ในช่วงระหว่าง 17-24% และแม้จะมีการแยกวิเคราะห์ตามสถานภาพการจ้างงาน ก็พบว่าช่องว่างทางรายได้ยังคงมีแนวโน้มที่คงที่และไม่ได้ลดลง ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาและมีแนวนโยบายเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือในทางสวัสดิการ

โดยนอกจากการเน้นในส่วนแรงงานนอกระบบซึ่งภาครัฐก็ได้มีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนให้แรงงานเข้ามาสู่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการมากยิ่งขึ้น การพิจารณาเสนอสวัสดิการต่างๆ ที่พึงมีแก่แรงงาน แรงงานนอกระบบกลุ่มผู้หญิงควรเป็นหนึ่งกลุ่มแรงงานสำคัญที่ภาครัฐควรมีมาตรการเฉพาะที่ออกมาช่วยเหลือและดูแลกลุ่มแรงงานนี้อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ 

 

 

อ้างอิง

• Liao, L. and Paweenawat, SW. 2019. “Parenthood Penalty and Gender Wage Gap: Recent Evidence from Thailand,” PIER Discussion Papers 102. Puey Ungphakorn Institute for Economic Research (PIER). Revised Jan 2019.

• Nakavachara, V. 2010. “Superior Female Education: Explaining the Gender Gap Trend in Thailand,” Journal of Asian Economics 21(2): 198-218.

• Paweenawat, S.W.; Vechbanyongratana, J; Yoon, Y. 2017. “Is Thailand’s Labor Market Really Woman Friendly? Revising the Declining Gender Wage Gap” (Working Paper). [https://www.pier.or.th/wp- content/uploads/2017/08/workshop2017_Labor_Jessica.pdf]

• สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2018. การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2561. [http://www.nso.go.th]

 

บทความ โดย ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

ผศ.ดร. ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3476 ระหว่างวันที่ 6 - 8 มิถุนายน 2562

ช่องว่างทางรายได้  แรงงานนอกระบบชาย-หญิงในไทย