ชงรัฐบาลใหม่ ล้มนําเข้าLNG เบรกค่าไฟพุ่ง

06 มิ.ย. 2562 | 02:25 น.

“ศิริ” โยนเผือกร้อนให้รัฐบาลใหม่ ชี้ขาดนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน มูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท ของ กฟผ.มีความจำเป็นหรือไม่ เหตุกระทบต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากค่า Take or Pay ส่งผลให้ประชาชนแบกรับค่าไฟสูงขึ้น ทั้งที่รู้ว่าก๊าซยังเพียงพอไปจนถึงปี 2571

การประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1.5 ล้านตัน

โดยบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี จากมาเลเซีย เสนอในราคาตํ่าสุด จากจำนวนผู้ยื่นประมูล 12 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ว่าเป็นราคาแอลเอ็นจีที่ตํ่าสุด ตามสัญญาจัดหาแอลเอ็นจีระยะยาวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ตามแผนคาดการว่าจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจี ช่วงเดือนมิถุนายน 2562 และจะเริ่มส่งมอบล็อตแรกได้ในเดือนกันยายนนี้ โดยสัญญาปีแรก ส่งมอบ 280,000 ตัน จากนั้นในช่วงปี 2563-2569 จะเป็นการนำเข้าเต็มอัตราตามเงื่อนไขสัญญาระยะยาว 8 ปี คิดเป็นมูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท

จากการติดตามความเคลื่อนไหว การลงนามครั้งนี้ อาจจะไม่เป็นไปตามคาด หรืออาจจะต้องล้มโครงการนี้โดยทีเดียว เนื่องจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำเข้าแอลเอ็นจีรายเดิมที่มีสัญญาอยู่แล้ว กับกฟผ.ยังไม่สามารถตกลงได้ว่า ภาระค่า Take or Pay ที่เกิดขึ้นจาก ปตท.ไปลดปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีจากสัญญาซื้อขายเดิมที่มีอยู่แล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับภาระ หรือต้องส่งผ่านเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนแบกรับภาระแทน

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากในปี 2563 กฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจีเต็มปริมาณที่ 1.5 ล้านตัน จะส่งผลให้ปตท.ต้องไปลดปริมาณซื้อก๊าซแอลเอ็นจีจากสัญญาเดิมที่มีอยู่ 20-30% ซึ่งจะต้องจ่ายค่า Take or Pay ให้กับคู่สัญญาแม้ว่าจะไม่ได้รับก๊าซฯมาก็ตาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาหรือกับกฟผ.ถึงปริมาณการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีของปตท.ที่จะลดลงและฝ่ายใด จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะต้องโยนภาระนี้มาเป็นค่าไฟฟ้าให้ประชาชนแบกรับแทน

“ค่า Take or Pay ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นว่า หากนำเข้ามา 1.5 ล้านตัน ปตท.ต้องไปลดการรับก๊าซแอลเอ็นจีจากคู่ค่าลง20-30% ของสัญญา 5.2 ล้านตันต่อปี หรือรับก๊าซได้เพียง 4.16 ล้านตันต่อปี และ 3.64 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ ซึ่งปริมาณก๊าซที่หายไป 1.04-1.56 ล้านตันนั้น จะต้องฝากไว้กับคู่สัญญา แต่ต้องจ่ายเงินเต็มตามปริมาณก๊าซที่ทำสัญญาไว้ ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ย และหากปีถัดๆไป ไม่สามารถรับก๊าซที่ฝากไว้ได้ และต้องทบของเก่าไปอีกภาระดอกเบี้ยยิ่งสูงขึ้น อีกทั้งกรณีที่ต้องนำก๊าซที่ฝากไว้มาใช้ ทางคู่ค้าจัดหาเรือขนส่งให้ไม่ได้ก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น”

 

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ได้สูงขึ้น และหากนำเข้ามาจริงค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก Take or Pay จะส่งผ่านมายังภาคประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วง 8 ปี ตามมติกพช.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ที่เห็นชอบให้ส่งผ่านค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG ของ กฟผ. ไปเฉลี่ยในโครงสร้างราคาไฟฟ้าได้

อีกทั้ง การประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีครั้งนี้ ถือว่าเป็น การดำเนินงานที่สวนทางกับนโยบายของภาครัฐเอง เนื่องจากปตท.ได้เคยร้องขอให้รัฐบาลจัดหาและซื้อแอลเอ็นจีระยะยาวจากโครงการ Mozambique LNG Area 1 ประเทศโมซัมบิกในเครือปตท. แต่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เห็นว่า ปริมาณการจัดหาก๊าซ ตามสัญญาของ ปตท. ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีเพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้าไปจนถึงปี 2571 การนำเข้าแอลเอ็นจีจากประเทศโมซัมบิก อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาระ Take or Pay เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซ ของประเทศลดลง

นอกจากนี้ ในแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2558 -2579 กรณีปรับปรุงครั้งที่ 2 (ปี 2559) ยังระบุในปี 2560 และในปี 2561 มีการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยตํ่ากว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 6% และ 9% ตามลำดับ และปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ที่มีสัญญาอยู่ในปัจจุบัน และมีสัญญาในอนาคต จะยังเพียงพอสำหรับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. และโรงไฟฟ้าไอพีพีบางส่วน ตามสัญญาซื้อและขายของ ปตท.

ดังนั้น เมื่อการนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน สร้างภาระให้กับประชาชนผ่านค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ ดังนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่าจะตัดสินใจต่อโครงการนี้ เนื่องจากยังไม่มีการประกาศคัดเลือกผู้ชนะการประมูลออก
มา แม้ว่าทางปิโตรนาส จะเสนอราคาขายก๊าซตํ่าสุดแล้วก็ตาม เพราะจะต้องนำเสนอกพช.ในรัฐบาลใหม่ ซึ่งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าไม่ทันรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,476 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ชงรัฐบาลใหม่  ล้มนําเข้าLNG  เบรกค่าไฟพุ่ง