อสังหาฯ 4.0 แข่งบริการ ตีหัวเข้าบ้าน

08 มิ.ย. 2562 | 01:00 น.

คอลัมน์ผ่ามุมคิด

เมื่อแนวโน้มที่อยู่อาศัยไทย บ้าน-คอนโดฯ แพงลิ่วปั่นราคา เกินกำลังซื้อ เหตุระดับรายได้คนในประเทศเติบโตไม่ทันต้นทุนที่ดิน นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ. แสนสิริ ระบุ อสังหาฯ 4.0

เลี่ยงไม่ได้ ต่างต้องปรับตัว และเมื่อราคาถูกกว่า ไม่ใช่ปัจจัยการแข่งขันอีกต่อไป เกมกลยุทธ์ธุรกิจอสังหาฯ พิชิตใจผู้บริโภคยุค 4.0 นอกจากโปรดักต์ ยังจะขึ้นอยู่กับจุดต่าง ด้านบริการหลังการขายด้วยใครเริ่มก่อน ดีกว่า น่าเชื่อถือกว่า ชนะ!

บ้านแพงเพราะที่ดิน

นายอุทัย ยอมรับว่า เรื่องที่อยู่อาศัยของไทยมีราคาแพงจับต้องยาก เกิดขึ้นมานานนับ 10 ปี สาเหตุสำคัญมาจากต้นทุนราคาที่ดินที่สูงมาก ในอดีตทำคอนโดฯ 1 ห้องนอน ก็นึกถึงขนาด 55-60 ตร.. แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 25 ตร.. เป็นการปรับตัวของผู้พัฒนาผ่านไซซ์ที่เล็กลง หรือในอดีตบ้าน 5 ล้านบาท ยังหาเจอได้ทำเลรามคำแหง ปัจจุบันอาจหลุดไปไกลถึงวงแหวนรอบนอก ทั้งหมดเป็นเรื่องของต้นทุนและอำนาจการซื้อที่เปลี่ยนไป ผู้ซื้อต้องปรับตัว ซื้อบ้านไม่ได้ อาจเปลี่ยนไปซื้อทาวน์เฮาส์อยู่แทน ทั้งนี้ หากถามถึงราคาตลาดที่เหมาะสมกับกำลังซื้อคนไทยในขณะนี้ คงไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับทำเลเช่นกัน

อสังหาฯ 4.0  แข่งบริการ  ตีหัวเข้าบ้าน

อุทัย  อุทัยแสงสุข

เทรนด์อยู่อาศัยโลก

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจุบันผู้บริโภคมีการปรับตัวในด้านราคาแล้ว สิ่งหนึ่งที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นในแง่การใช้ชีวิตและอยู่อาศัย ก็คือ การบริการ เพราะคนมีเวลาน้อยลง ต้องการความสะดวกสบาย สะท้อนจากภาพการเติบโตของธุรกิจสั่ง-ส่งอาหาร ขณะที่ในกลุ่มรถยนต์เอง เช่น แบรนด์ BMW ขายบริการ BSI ประกันบำรุงรักษาอะไหล่ที่อายุมีผลต่อการใช้งาน ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นมหาศาล ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การอยู่อาศัยโลก พบอันดับ 1 มากกว่า 90% ระบุ การบริการหลังการขายมีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อบ้านเป็นอันดับแรกๆ พบขณะนี้การแข่งขันของอสังหาฯทั่วโลก กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก 

 

แข่งอสังหาฯไทย 4.0

นายอุทัย ระบุว่า เรื่องราคาถูกกว่าไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไปในเกมการแข่งขันของอสังหาฯ ขณะที่ประเทศไทย กำลังก้าวสู่จุดมาตรฐานด้านดีไซน์และคุณภาพวัสดุ ทัดเทียมกันมากขึ้นแล้ว จึงคาดเกมแข่งขันต่อไป จะขึ้นอยู่กับการพัฒนาบริการที่ต้องดีกว่า เหนือกว่า แต่จากปัจจุบันหลายบริษัทของไทยยังให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวน้อยอยู่ ส่วนใหญ่สร้างเสร็จ ขายออกก็ทิ้ง

มีบริษัทก่อสร้าง ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ดูแลการปล่อยเช่า แต่น้อยรายที่จะมีทีมนิติบุคคล ดูแลบริการหลังการขายเอง ทำให้หลายโครงการมีดีเรื่องทำเล แต่ราคากลับไม่ขึ้น เพราะโครงสร้าง วัสดุ ถนนไม่ถูกปรับปรุงดูแล แต่ในแง่ผู้ซื้อย่อมคาดหวังต่อมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ทุกอุตสาหกรรม ทุกสินค้า ถ้าไม่มีบริการเข้าไปร่วม จะขายยาก พบในอุตสาหกรรมรับประกันซ่อมแซมที่อยู่ของสหรัฐฯ สูงถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯโตปีละ 5% สะท้อนผู้บริโภคต้องการหลักประกันระยะยาว

เจาะกลยุทธ์โฮมแคร์

บริษัทเอง มองเห็นเทรนด์ดังกล่าว จึงต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งจะมีผลต่อแบรนด์และความน่าเชื่อถือ โดยนำร่อง 2 บริการสำคัญเมื่อปีที่แล้ว ในแง่บริการความปลอดภัยให้ลูกบ้านและการดูแลรักษางานระบบผ่านศูนย์ส่วนกลาง พบได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าเพิ่มขึ้น 7% ขณะที่ปี 2562 เตรียมส่งบริการใหม่ในรูปแบบโฮมแคร์เสริมรูปแบบการดูแล ตั้งแต่ซื้อ-โอน -อยู่อาศัย ด้วยงบลงทุน 100 ล้านบาท คล้ายการซื้อประกันดูแลรักษาบ้านระยะยาวหลังหมดประกันตามกฎหมาย ทั้งในแง่ดูแลเชิงป้องกันและการดูแลซ่อมบำรุง เป้าหมายบ้านอายุไม่เกิน 5 ปี ครอบคลุมผู้ใช้ 1,600 รายในปี 2563 เชื่อจะเป็นการรักษาฐานลูกค้าและใช้เจาะลูกค้ายุคใหม่ได้อย่างดี

ทำบริการเหมือนจะง่าย แต่เบื้องหลังเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะเกี่ยวกับบ้าน ดีเวลอปเปอร์ที่เข้ามาทำ ถ้าทำสำเร็จจะกลายเป็นจุดแข็ง เป็นมาตรฐานใหม่ และมีผลต่อการแข่งขันในอนาคต” 

 

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,476 วันที่ 6-8 มิถุนายน 2562

อสังหาฯ 4.0  แข่งบริการ  ตีหัวเข้าบ้าน