‘ซีพี’เปิดเกมยื้อ ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

06 มิ.ย. 2562 | 01:00 น.

แม้กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จะคว้างานประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปครอง แต่สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่อยู่ระหว่างการเปิดประมูล ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่ซีพีต้องการ โดยเข้าร่วมประมูลในนามกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เพื่อต่อจิ๊กซอว์การพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจให้ครบลูป สำหรับบิ๊กโปรเจ็กต์ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี

ตกม้าตายนํ้าตื้น

โครงการนี้หากจะว่าไปต้องถือว่ากลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง เป็นกลุ่มที่มีการเตรียมการล่วงหน้าในการ ประมูลที่นานกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้วยซํ้าไป โดยได้ผู้รับจ้างบริหารสนามบิน (operator) ที่มีประสบการณ์บริหารสนามบินที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคน อย่าง ฟราพอร์ท ประเทศเยอรมนี มาเป็นผู้รับจ้างบริหารสนามบิน และร่วมทำแผนประมูล ก่อนกลุ่มอื่นๆ อยู่นานหลายเดือน ก่อนวันเปิดให้ยื่นประมูลเสียอีก

เรียกได้ว่าหากเปิดให้มายื่นซองประมูล ตามกำหนดการที่วางไว้ตั้งแต่แรก คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 กลุ่มนี้ก็จะเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีความพร้อมมากที่สุดที่จะเข้ามายื่นประมูลด้วยซํ้า ทำให้ต้องมีการขยายเวลายื่นซองประมูลออกไปเป็นวันที่ 21 มีนาคม 2562 แทน ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของเอกชนส่วนใหญ่ที่เข้ามาซื้อซองประมูล

แต่ท้ายสุดกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง กลับต้องมาตายนํ้าตื้น ในวันที่มีการเปิดให้มายื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่าข้อ เสนอในส่วนของซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) ในกล่องที่ 6 และซอง 3 (ข้อเสนอด้านราคา) กล่องที่ 9 ยื่นซองประมูลที่เกินเวลา 15.00 . ด้วยเหตุผลว่ารถติดแต่ที่มาจี๊ดสุดๆ เพราะดันมีหลักฐานมัดตัว

เนื่องจากถูกกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ที่มีบีทีเอสอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ถ่ายรูปไว้ชัดเจนว่ามายื่นเกินเวลาไป 9 นาที แถมไปร้องเรียนจนทำให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครง การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมติไม่รับพิจารณาซองที่ยื่นเกินเวลา

 

‘ซีพี’เปิดเกมยื้อ  ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

 

 

ลุ้นศาลรับคำร้องขอล้มมติ

ทำให้กลุ่มธนโฮลดิ้ง ดิ้นทุกทาง งัดทุกข้อกฎหมาย หวังที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าว โดยไปฟ้องศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับซองข้อเสนอของกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง ไว้พิจารณาตามขั้นตอน การคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนต่อไป

ยกแรกของการพึ่งศาล ดูเหมือนจะอกหัก เพราะศาลปกครอง มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยกคำขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง ในประเด็นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯที่มีมติไม่รับซองข้อเสนอที่เกินเวลา ซึ่งหลังการไต่สวนของศาลปกครอง พบว่าคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯในเรื่องนี้ ฟังไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาอีกด้วย

จึงเหลือที่ยังต้องลุ้นต่อว่า ศาลจะพิจารณาคำร้อง ที่ทางกลุ่มขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับซองข้อเสนอของกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง ไว้พิจารณาตามขั้นตอนการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนต่อไปหรือไม่ ซึ่งทางกลุ่มได้อ้างว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯไม่ได้ถือเอากำหนดเวลายื่นและรับซองข้อเสนอเป็นสาระสำคัญและได้ขยายระยะเวลาการรับซองข้อเสนอ ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งที่ศาลยังต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เพื่อวินิจฉัยในเนื้อหาคดีต่อไป

อุทธรณ์คกก.คัดเลือก

อย่างไรก็ตามแม้ศาลปกครองจะไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งร้องขอแต่ก็ใช่ว่ากระบวนการประมูลที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเอกสารข้อเสนอซอง 1 (ซองคุณสมบัติทั่วไป) ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 กลุ่ม จะเดินหน้าต่อได้

เพราะก่อนหน้านี้ทาง กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง ได้ทำหนังสืออุธรณ์คัดค้านคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ไม่รับซองที่เกินเวลาดังกล่าว และแม้คณะกรรมคัดเลือกฯจะยืนยันมติเดิมไปแล้ว แต่ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คณะกรรมการคัดเลือกฯจึงต้องเสนอเรื่องไปถึงผู้บังคับบัญชา ซึ่งในที่นี้ก็คือคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการอุทธรณ์ขึ้นมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ยื้อเปิดซอง 1 อีก 1 เดือน

ดังนั้นไทม์ไลน์ที่วางไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ (ซองที่ 1) เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงต้องพับไว้ก่อน เพื่อรอให้คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการ อุทธรณ์พิจารณาในเรื่องนี้ คาดว่าใช้เวลาราว 1 เดือน เมื่อได้ทราบผล ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯจะดำเนินการพิจารณาเอกสารข้อเสนอซองที่ 1

เรียกว่ากลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้ง ก็ยื้อเวลาไปได้อีกสักระยะ พร้อมๆ กับการเดินสายล็อบบี้ไปพลางก่อน เพราะหากไม่ทำอะไรเลย แน่นอนว่าชวดประมูลอู่ตะเภาแน่นอน แต่ดูเหมือน 2 กลุ่มผู้ท้าชิงอย่างกลุ่ม แกรนด์ คอนซอร์เตียมและกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสคงเซ็งเป็ดอยู่โข

รายงาน โดย โต๊ะข่าวท่องเที่ยว

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3476 วันที่ 6-8 มิถุนายน 2562

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● จับตา“ซีพี”ยังมีลุ้น 30 วัน ยื่นอุทธรณ์ชิงเมืองการบิน

● BTS ลั่นพร้อมลุยอู่ตะเภา” 2.9 แสนล้าน

● “ซีพี”วืดชิงอู่ตะเภา 2.9 แสนล. ศาลปกครองกลางยกคำร้อง

● ศาลปกครองชี้ชะตา“ซีพี”ชิงอู่ตะเภา 2.9แสนล้านวันนี้

● “ซีพี”สละสิทธิ์เปิดซอง 2 ชิงอู่ตะเภา ทร.ยันประเมินข้อเสนอเสร็จสิงหานี้

● 3 กลุ่มฉลุยเปิดซอง1 ชิงอู่ตะเภา ลุ้น“ซีพี”ไปต่อหรือไม่ขึ้นกับคำสั่งศาล

● นายกฯไฟเขียวตัดสิทธิ์"กลุ่มซีพี"ประมูลอู่ตะเภา

● “ซีพี” ส่อชวดประมูลอู่ตะเภา ศาลปกครองยกคำขอทุเลา

● “ทร.”แจงปมพิพาท“ซีพี”ขอคุ้มครองตัดสิทธิ์ประมูลอู่ตะเภาวันนี้

● กองทัพเรือพร้อมแจงศาล16พ.ค.นี้ อู่ตะเภา ไม่พิจารณาซองยื่นเกินเวลาCP

● กองทัพเรือแจงให้3เอกชน ชี้แจงซอง1เพิ่มเติมเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

● ยกแรกชิงอู่ตะเภา บีบีเอสเขี่ยทิ้งCP

● กองทัพเรือแจงไม่พิจารณาเอกสารซีพี เหตุยื่นซองเกินเวลากำหนด

‘ซีพี’เปิดเกมยื้อ  ประมูลสนามบินอู่ตะเภา