แนะเกษตรกรแบนมันสำปะหลังพันธุ์ 89 สุ่มเสี่ยงโรคใบด่าง

01 มิ.ย. 2562 | 04:55 น.

กรมวิชาการเกษตร  เตือนเกษตรกรไม่ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ 89 ยันเป็นพันธุ์สุดอ่อนแอแพ้ทุกโรคทั้งหัวเน่า  พุ่มแจ้  และใบด่าง   เผยผลแสกนพื้นที่ปลูกมันล่าสุดพบโรคใบด่าง 5 อำเภอในจังหวัดสระแก้ว   ย้ำเป็นโรคระบาดมันสำปะหลังติดอันดับร้ายแรงที่สุดทำผลผลิตเสียหายสิ้นเชิง     

แนะเกษตรกรแบนมันสำปะหลังพันธุ์ 89 สุ่มเสี่ยงโรคใบด่าง  

นางสาวเสริมสุข   สลักเพ็ชร  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า   ตั้งแต่ปี 2558-2561 กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากตามรายงานจากประเทศเวียดนามโรคนี้ทำให้ผลผลิตเสียหาย 50- 100 เปอร์เซ็นต์  ที่สำคัญสามารถเข้าทำลายมันสำปะหลังได้ทุกระยะการเจริญเติบโต   โดยกรมวิชาการเกษตรได้เข้มงวดการนำเข้ามันสำปะหลัง และสร้างการรับรู้โดยประชุมชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้อง   พร้อมกับจัดทำมาตรการด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย และแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเตรียมไว้ในกรณีหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังเข้ามาในประเทศไทย 

แนะเกษตรกรแบนมันสำปะหลังพันธุ์ 89 สุ่มเสี่ยงโรคใบด่าง  

อย่างไรก็ตามแม้ในฤดูปลูกมันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาจะยังไม่พบโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย  แต่ในฤดูปลูกมันสำปะหลังปี 2562 นี้  กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรและภาคเอกชน  ดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งการสำรวจล่าสุดพบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างในพื้นที่ 5 อำเภอ จำนวน 18 ตำบลในจังหวัดสระแก้ว และได้สั่งการไม่ให้เคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคข้ามจังหวัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคใบด่างไปยังพื้นที่อื่น

แนะเกษตรกรแบนมันสำปะหลังพันธุ์ 89 สุ่มเสี่ยงโรคใบด่าง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ให้คำแนะนำการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดขากเชื้อไวรัส SLCMV  โดยขอให้เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังทุก 2 สัปดาห์ หากพบต้นที่แสดงอาการต้องสงสัยให้ดำเนินการถอนทำลายต้นที่ต้องสงสัยและต้นข้างเคียงในพื้นที่ 4x4 เมตร (ไม่เกินจำนวน 16 ต้น) โดยวิธีฝังกลบในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตรทำการกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร และพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ  ด้วยสารเคมีอิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร   ในแปลงที่พบอาการต้องสงสัยและแปลงใกล้เคียง   เพื่อป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคที่สำคัญ

แนะเกษตรกรแบนมันสำปะหลังพันธุ์ 89 สุ่มเสี่ยงโรคใบด่าง

“จากผลการสำรวจต้นมันสำปะหลังที่พบเป็นโรคใบด่าง สาเหตุสำคัญมาจากเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ 89 ซึ่งแม้จะโตได้ดีและให้น้ำหนักดี  แต่เป็นพันธุ์มันสำปะหลังที่อ่อนแอต่อทุกโรคของมันสำปะหลัง ได้แก่ โรคหัวเน่า  พุ่มแจ้  และใบด่าง  ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงไปปลูกพันธุ์อื่นและต้องมาจากแปลงที่ผลิตต้นพันธุ์สะอาดและปลอดโรค  รวมทั้งไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ  เนื่องจากอาจมีโรคใบด่างติดเข้ามากับท่อนพันธุ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดในฤดูปลูกต่อมาได้ ทั้งนี้หากมีโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อไวรัส SLCMV เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรเสียหายโดยสิ้นเชิงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย  เพราะจัดเป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดของมันสำปะหลัง”  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว