หวั่นสหรัฐฯตัดสิทธิ GSPไทยเม็ดเงินวูบ 4.46 หมื่นล.

02 มิ.ย. 2562 | 09:45 น.

ทีเอ็มบี เตือนไทย ระวังถูกตัดสิทธิ GSP กระทบส่งออกเหลือโต 0% เม็ดเงินหาย 4.46 หมื่นล้านบาท หรือ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยํ้าแม้ไม่มีชื่อเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงินเพื่อการค้า แต่ต้องเฝ้าระวัง เหตุดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงถึง 7% แถมเกินดุลสหรัฐฯเฉียดเข้าข่าย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

แม้ก่อนหน้าจะมีรายงานข่าวว่า ไทยกำลังถูกสหรัฐอเมริกาจับตาเรื่องประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน แต่หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานประเทศคู่ค้า 9 ประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องของการแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 6 ประเทศคือ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ อิตาลี โดยประเทศที่เพิ่มมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และ เวียดนาม แม้ไม่มีรายชื่อของไทย แต่ก็ยังต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะสหรัฐฯปรับเกณฑ์ในพิจารณาใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้น

 

 ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมยังเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับวันก่อน แม้ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น แต่เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้น หนุนให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าไปมาก โดยนักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทแคบๆ 31.75 -31.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะตลาด ยังจับตาดูทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และปัญหาสงครามการค้า 

 

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีรายชื่อติดอยู่ในรายงานประเทศที่เข้าข่ายบิดเบือนค่าเงินเพื่อการค้าของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา แต่จะเห็นว่า สหรัฐฯได้ปรับหลักเกณฑ์บางส่วนใน 3 ข้อหลัก คือ 1.ตัวเลขการเกินดุลกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังไม่เปลี่ยนแปลง 2.เกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับทั่วโลกจากเดิม 3% ของจีดีพีลดเหลือ 2% ของจีดีพี และ 3.พบว่า มีการแทรกแซงค่าเงินเป็นเวลา 6 เดือนใน 12 เดือน จากเดิมอยู่ที่ 8 เดือน ใน 12 เดือน ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงค่าเงินแบบเดือนเว้นเดือน หรือติดต่อกันก็ตาม โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพิ่มขึ้นเกิน 2% ของจีดีพี

หวั่นสหรัฐฯตัดสิทธิ GSPไทยเม็ดเงินวูบ 4.46 หมื่นล.

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ความเป็นห่วงและกังวลนั้น น่าจะเป็นข้อ 1 และข้อ 3 เนื่องจากข้อมูลในปี 2561 จะเห็นว่า ไทยเกินดุลสหรัฐฯเฉียดเข้าเกณฑ์อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไปสูงมากถึง 7% ของจีดีพี จากเพดานกำหนดอยู่ที่ 3% และลงมาอยู่ที่ 2% ถึงแม้ว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปีก่อน จะไม่ได้เพิ่มขึ้นแตะ 2% แต่หลังจากนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศย้อนหลัง 12 เดือนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ เพราะไทยเป็นประเทศส่งออกสุทธิและมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก แต่ไทยยังถือว่า ปลอดภัยมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะค่าเงินแข็งค่าอยู่ที่ 2.4% เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียที่ค่าเงินริงกิตอ่อนค่ากว่า 1%

 

อย่างไรก็ดี หากไทยเข้าข่ายประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเพื่อการค้า สิ่งที่จะโดนกระทบเป็นอย่างแรก จะเป็นเรื่องของการถูกตัดสิทธิ GSP หรือ ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ไทยได้รับสิทธิเว้นภาษีจากสหรัฐฯ 1,400 รายการ จากเดิมที่ใช้สิทธิ 3,510 รายการ ซึ่งที่ผ่านมาไทยใช้สิทธิ GSP เป็นอันดับที่ 2 รองจากอินเดีย หากไทยเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน จะเห็นการตอบโต้ผ่านการตัดสิทธิ GSP เป็นวิธีที่เร็วและง่ายที่สุด จึงเป็นความเสี่ยงที่ไทยต้องเฝ้าระวังและติดตามใกล้ชิด

หวั่นสหรัฐฯตัดสิทธิ GSPไทยเม็ดเงินวูบ 4.46 หมื่นล.

ทั้งนี้ในกรณีที่ไทยเข้าข่ายและโดนตัดสิทธิทุกรายการ จะเห็นมูลค่าการส่งออกหายไปกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมูลค่าที่ไทยได้รับสิทธิทั้งสิ้น 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ตัวเลขการส่งออกที่ทีเอ็มบีคาดว่า จะขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ 0.5% จะเหลือ 0% หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไปประมาณ 4.46 หมื่นล้านบาท

 

“สิ่งที่ธปท.ห่วงจะเป็นข้อที่ 1 และ 3 ทำให้ยังไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่าไทยจะไม่มีรายชื่อเพราะถ้าดูตัวเลขการเกินดุลสหรัฐฯ ถือว่า ฉิวเฉียดและปริ่มนํ้ามาก ดังนั้น เป็น เรื่องง่ายมากที่อยู่ในเรดาร์ของสหรัฐฯ และสิ่งที่จะโดนเป็นอันดับแรก คือ การตัดสิทธิ GSP ที่เราใช้อยู่ ซึ่งจากการประเมินหากไทยถูกตัดสิทธิหมด จะกระทบการส่งออกที่แย่อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก”

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัย(Safe Haven Assets) อย่างบอนด์หรือทองคำ ควบคู่ไปกับการถือสิน ทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น และยังส่งผลกระทบกับราคานํ้ามัน ล่าสุดรายงานสต๊อกนํ้ามันดิบคงคลังสหรัฐฯที่ลดลงเพียง 3แสนบาร์เรล กดดันให้ราคานํ้ามันดิบเบรนต์ดิ่งลงกว่า 3.5% สู่ระดับ 65.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับตํ่าที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน

 

“ส่วนเงินบาท การซื้อขายในประเทศเริ่มเงียบลง เนื่องจากเป็นช่วงก่อนหยุดยาว แต่อาจมีความผันผวนเพิ่มขึ้น หลังจากสหรัฐฯส่งสัญญาณจะเก็บภาษีกับสินค้าของเม็กซิโกเพิ่มจาก 5% เป็น 10% ในวันที่ 1 กรกฎาคม จากปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและอาจปรับขึ้นเป็น 25% ในปลายปีนี้ ถ้าเม็กซิโกไม่ออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,475 วันที่ 2 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562