EV พรึบ 20 ค่ายรถยื่นผลิตในไทยมูลค่าลงทุน 4.4 หมื่นล้าน

31 พ.ค. 2562 | 11:15 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บีโอไอ ย้ำมีบริษัทยื่นของส่งเสริมการลงทุนผลิตรถพลังงานไฟฟ้า “อีวี” 20 ราย ด้วยแพกเกจลงทุนรวมกว่า 44,000 ล้านบาท คาดกำลังผลิตรวม 2 แสนคันต่อปี ด้านกรมสรรพสามิต ระบุอยากให้อีวีเกิดราคารถควรถูกลงกว่านี้ และต้องผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย ลั่นพร้อมสนับสนุนเต็มที่

31 พ.ค.หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ "EV...ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก"โดยมีตัวแทนจากภาครัฐที่มานำเสนอมุมมองและโอกาสการลงทุนพร้อมเสวนาในหัวข้อ “โอกาสการลงทุนอุตสาหกรรม EV”  ขณะที่ภาคบ่ายภาคเอกชนร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ว่าแนวโน้มจะเติบโตไปในทิศทางใด กับการเสวนาในหัวข้อ “เปิดศักยภาพยานยนต์ไฟฟ้า”

นายชาตรี ลิ้มผ่องใส ผู้อำนวยการกองบริหารการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ก่อนจะเกิดอีวีในไทย ก่อนหน้านั้นก็เกิดอีโคคาร์1ก่อน ตอนนี้ก็เป็น 2 และตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเทรนด์ในต่างประเทศมา ดังนั้นไทยเลยเปิดให้ค่ายรถลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2560 และปัจจุบันสิ้นสุดแล้ว

ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในแพกเกจไฮบริด 5 ราย อนุมัติไปแล้ว 4 ราย และปลั๊กอิน ไฮบริด ยื่นขอ 8 ราย อนุมัติไปแล้ว 4 ราย จากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น จีน และเยอรมนี

ขณะที่ อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า100% ยื่นขอ 20 ราย อนุมัติไปแล้ว 1 ราย ลงทุนรวม 1,439 เหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 44,000 ล้านบาท) กำลังผลิตรวม 2 แสนคัน

ส่วนการยื่นขอแบบผลิตแบตเตอรี่สำหรับอีวีมีผู้ยื่นขอ 11 ราย อนุมัติไปแล้ว 10 ราย และสถานีชาร์จ 8 ราย อนุมัติไปแล้ว 1 ราย โดยในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้่า100%ที่อนุมัติช้า เพราะ ถือเป็นโครงการที่มีเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องใช้เวลาพูดคุยกับบริษัทแต่ละราย

EV พรึบ 20 ค่ายรถยื่นผลิตในไทยมูลค่าลงทุน 4.4 หมื่นล้าน EV พรึบ 20 ค่ายรถยื่นผลิตในไทยมูลค่าลงทุน 4.4 หมื่นล้าน

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่าปัญหาและอุปสรรคของยานยนต์ไฟฟ้าที่มีผลทำให้ยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่ขับเคลื่อน คือ สถานีชาร์จน้อย ระยะเวลาในการชาร์จที่นาน ราคาแบตเตอรี่ที่แพง ทำให้ราคารถแพง

ส่วนนโยบายรัฐบาลเน้นสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตอีวีในภูมิภาคและเน้นให้ไทยได้ผลิตคอร์เทคโนโลยี อาทิ แบตเตอรี่ ,พีซียู,แบตเตอรี่เมเนจเมนต์ ซิสเต็ม กล่าวคือต้องสนับสนุนให้ไทยได้ประกอบชิ้นส่วนหลักเหล่านี้ รวมไปถึงควิกชาร์จ พลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการของพลังงานในอนาคต เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ายืนอยู่ได้ในระยะยาว

“การสนับสนุนผลิตแบตเตอรีในประเทศเป็นหลักประการสุดท้ายคือความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ลูกค้าจะเชื่อมั่นได้อย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่เชื่อมั่น เพราะสถานที่ชาร์จ ระยะเวลาในการชาร์จ ราคาแบตเตอรี่ต้องลง และราคารถอีวีต้องถูกกว่านี้ถ้าราคารถไม่ถูกไม่เกิดแน่”

ในส่วนของภาครัฐได้เคาะมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าให้เลย ถ้าค่ายรถทำเร็วทำได้ในปี 2563 -2565 ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตเลย แต่ต้องมีคุณสมบัติคือต้องได้นโยบายรับบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ และปีที่ 5 ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ประกอบหรือผลิตในประเทศไทย