‘ความต่างในการคุ้มครองผู้บริโภค’

03 มิ.ย. 2562 | 03:00 น.

จากข่าวที่เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากสำหรับกรณีที่คำวินิจฉัยของคณะลูกขุนของศาลชั้นต้นในเมืองโอกแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีคำสั่งให้บริษัท มอนซานโตฯ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพ จ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยรวมกันเป็นจำนวนเงินกว่า 2,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 65,000 ล้านบาท แก่นางอัลวา พิลลอยด์ วัย 76 ปี และนายอัลเบอร์ตา พิลลอยด์ วัย 74 ปี ซึ่ง 2 สามีภรรยาที่เป็นผู้เสียหายอ้างว่าตนได้ใช้ยากำจัดวัชพืชยี่ห้อราวด์ อัพ เรดดี้ของบริษัทนี้มานานกว่า 30 ปี และผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทดังกล่าวเป็นเหตุที่ก่อให้เกิด มะเร็งต่อมนํ้าเหลือง

คดีนี้ทำให้เกิดคำถามว่าในประเทศที่มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชจำนวนมากในการทำการเกษตรอย่างประเทศไทย จะมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับความคุ้มครองจากผลกระทบที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรเคมี เช่นเดียวกันกับคำวินิจฉัยของคณะลูกขุนในคดีนี้ของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ และเป็นไปได้หรือที่สุดท้ายแล้วบริษัท มอนซานโตฯ จะต้องชดใช้เงินให้ 2 สามีภรรยานี้สูงถึง 65,000 ล้านบาท

ประเด็นแรก ประเทศไทยไม่สามารถกำหนดค่าเสียหายให้สูงได้เหมือนที่ปรากฏในคดีนี้ เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวคิดของการคำนวณค่าเสียหายในเชิงลงโทษ หรือที่เรียกว่า Punitive Damages ซึ่งหมายความว่าค่าเสียหายจะไม่ได้พิจารณาจากฐานของความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่จะมีการกำหนดให้มีการจ่ายค่าเสียหายสูงกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหลายเท่า ตัวอย่างเช่น ศาลสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียได้มีคำสั่งเมื่อปี 2559 ว่า การกำหนดค่าเสียหายที่ผู้กระทำผิดต้องชดเชยให้กับผู้เสียหายเกินกว่าค่าเสียหายจริง 10 เท่า ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการจ่ายค่าเสียหายนี้ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ใช้ในการลงโทษผู้กระทำละเมิด

‘ความต่างในการคุ้มครองผู้บริโภค’

 

แนวคิดเรื่องการคำนวณค่าเสียหายในเชิงลงโทษนี้ ไม่ได้มีการนำมาใช้ในประเทศไทย เหตุผลหลักน่าจะมาจากสภาพเศรษฐกิจและรายได้ของคนในประเทศที่ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานรายได้ในระดับสากล ดังนั้นหากมีการนำแนวคิดเรื่องการคำนวณค่าเสียหายเชิงลงโทษมาใช้ในประเทศไทย โดยผู้ที่ต้องจ่ายค่าเสียหายที่เกินกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงหลายเท่า ก็ต้องมีการนำทรัพย์ของผู้กระทำละเมิดออกขายทอดตลาด ทั้งที่ความเสียหายที่ได้รับจริงมีน้อยกว่าที่จะกำหนดให้ต้องชดใช้ ซึ่งต่างจากเจตนารมณ์ของกฎหมายไทยซึ่งมุ่งที่จะเยียวยาผลเสียที่ได้รับการกระทำเท่านั้น หาได้มุ่งที่จะลงโทษหรือยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำไปกระทำการในลักษณะนี้กับผู้อื่นอีก ดังนั้นแนวคิดนี้จึงยังไม่มีการนำมาปรับใช้ในประเทศไทย

นั่นหมายความว่า หากกรณีที่เกษตรกรไทยที่ใช้ผลิตภัณฑ์เคมีทางการเกษตร จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างในคดีที่เกิดขึ้น หากมีการฟ้องร้องบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย แนวทางวินิจฉัยของศาลไทยที่ไม่ได้มีแนวคิดเรื่องค่าเสียหายเชิงลงโทษในกฎหมาย ก็มักจะกำหนดค่าเสียหายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงค่าเสียหายในอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้จากการรักษา

หรืออย่างมากที่สุดในบางคดีที่ผ่านมา ศาลก็จะใช้ช่องทางในการกำหนดค่าเสียหายให้มากกว่าความเสียหายจริงที่โจทก์ได้รับอยู่บ้าง ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 และ 446 ได้ให้อำนาจศาลคำนวณค่าสินไหมต่างๆ รวมทั้งค่าเสียหายที่ไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามแต่พฤติการณ์และความร้ายแรงที่มีการละเมิดจนก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งอย่างไรก็ดีจะไม่มีการกำหนดค่าเสียหายเป็นจำนวนสูงกว่าความเสียหายจริงๆ ถึง 36 เท่าอย่างในกรณีที่เกิดขึ้นในคดีนี้

จริงๆ แล้วคำวินิจฉัยในคดีนี้ก็เป็นเพียงกระบวนการในศาลชั้นต้น ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายของบริษัท มอนซานโตฯ ต้องยื่นอุทธรณ์ และมีความเป็นไปได้สูงมากที่การกำหนดค่าเสียหายจะถูกปรับลดลง เพราะโดยปกติในคดีโดยทั่วไปแล้วผู้พิพากษาในรัฐแคลิฟอร์เนีย จะไม่ลงโทษความเสียหายเกิน 4 เท่าของความเสียหายจริง เว้นแต่ว่าต้องการลงโทษผู้ก่อให้เกิดความเสียหายเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง มิให้เกิดการกระทำผิดซํ้าอีก และจะได้ใช้เป็นบรรทัดฐานหรือตัวอย่างเพื่อมิให้คนอื่นในสังคมประพฤติหรือปฏิบัติแบบนั้นอีก

สิ่งที่เรียนรู้ได้จากคดีนี้คือ แนวคิดและวิธีการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเทศก็จะมีวิธีการ วิธีคิด หรือแนวทางในการกำหนดค่าเสียหายที่แตกต่างกันไป คงจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าบนความแตกต่างนี้ รูปแบบหรือวิธีคิดแบบไหนให้ความเป็นธรรมได้มากกว่ากัน เพราะองค์ประกอบและบริบทของ 2 ประเทศนี้ก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดแต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งมีพี่น้องเกษตรกรจำนวนมากที่ได้รับ หรืออาจได้รับผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาจมีความรุ่นแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง หรือเสียชีวิต ถ้าเราต้องการให้การคุ้มครอง ป้องกันคนกลุ่มนี้มากขึ้น ถึงเวลารึยังที่เราอาจจะต้องมาทบทวนวิธีการกำหนด หรือคำนวณความเสียหายที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่มาจากบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันกับในคดีนี้ ให้มีการรับผิดชดใช้ในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการป้องปรามให้บริษัทอื่นๆ ให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก่อนที่จะวางจำหน่าย

หากแนวคิดเรื่องการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษนำมาใช้ในประเด็นนี้ในประเทศไทย โอกาสในการที่จะช่วยปัญหาในลักษณะแบบนี้ในบ้านเราก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น

รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญา และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3475 วันที่ 2-5 มิถุนายน 2562

‘ความต่างในการคุ้มครองผู้บริโภค’