จีนบุกอีอีซี เทรดวอร์บีบย้ายฐาน ‘WHA-อมตะ’เปิดพื้นที่รับอุตฯยานยนต์

29 พ.ค. 2562 | 10:00 น.

สงครามการค้าบีบทุนจีนเร่งย้ายฐานชัดขึ้น ค่ายนิคมฯอีอีซี “WHA-อมตะ” สุดคึก กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน โลจิสติกส์แห่ขอซื้อที่ พร้อมจีบขอร่วมทุน อีกด้านสินค้าจีนทะลักไทย แค่ 4 เดือนแรกขาดดุล 2 แสนล้าน

สงครามการค้าที่สหรัฐฯยังเดินหน้ากดดันจีนต่อเนื่อง นอกจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า และตลาดหุ้นทั่วโลกในเวลานี้แล้ว ยังกระทบชิ่งถึงประเทศไทยที่ได้รับผลทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านหนึ่งมีผลให้นักลงทุนจีนที่มุ่งเป้าผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนไหวในการย้าย/ขยายฐานการผลิตมาไทยเพื่อใช้เป็นฐานใหม่ในการส่งออกไปสหรัฐฯแทนฐานผลิตในจีน แต่อีกด้านหนึ่งมีสินค้าจีนทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น

 

รุมซื้อที่“WHA-อมตะ”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบ 2 ของสหรัฐฯจาก 10 % เป็น 25 % รวมกว่า 5,700 รายการ มีผลเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้กลุ่มนักลงทุนจีนทยอยเข้ามาสำรวจพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีมากขึ้น

เห็นได้จากในช่วงกว่า 4 เดือนของปีนี้ มีนักลงทุนจีนเข้ามาเจรจาซื้อที่ดินในนิคมของบริษัท คิดเป็นพื้นที่ราว 2,000 ไร่แล้ว ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สูงกว่าเป้าหมายในการขายที่ดินของบริษัทในปีนี้ตั้งไว้เพียง 1,400 ไร่ เท่านั้น โดยนักลงทุนจีนที่เข้ามาจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นหลัก รองลงมา เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค และโลจิสติกส์ เป็นต้น จีนบุกอีอีซี  เทรดวอร์บีบย้ายฐาน ‘WHA-อมตะ’เปิดพื้นที่รับอุตฯยานยนต์

ทั้งนี้จากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ส่งผลให้ไทยได้อานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่นิคมที่มีความต้องการของนักลงทุนจีน เพราะไม่เพียงแต่มาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ แต่นักลงทุนจีนยังสนใจที่จะขอร่วมทุนกับบริษัท เพื่อจัดหาพื้นที่รองรับการลงทุนจีนที่จะทะลักเข้ามาโดยเฉพาะด้วย

“ปัจจัยสงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนจีนที่ต้องการขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ตัดสินใจเร็วขึ้น ที่จะขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งไทยมีอีอีซี ถือเป็นจุดดึงดูดที่สำคัญที่จะทำให้นักลงทุนจีนมาลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มอาลีบาบา ที่ตัดสินใจด้านอี-คอมเมิร์ซไปแล้วราว 1.3 หมื่นล้านบาท หลังจากไปเยือนหังโจว เมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ยืนยันว่าจะเข้ามาขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอีก”

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า หลังจากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบ 2 ทำให้สงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้น เป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนจีนตัดสินใจเร็วขึ้นที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศ มีไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายเนื่องจากมีนโยบายอีอีซีรองรับ ซึ่งเป็นผลดีกับบริษัทที่จะขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งได้มากขึ้น จากปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ 950 ไร่ เนื่องจากมีนักลงทุนจีน ติดต่อเข้ามาและลงสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แค่ 4 เดือนกว่าของปีนี้มีการเจรจาและเข้ามาดูพื้นที่ลงทุนแล้วไม่ตํ่ากว่า 500 ไร่ โดยเฉพาะในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ารอบ 2 นักลงทุนจีนยิ่งเข้ามาหารือมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ซึ่งหลังจากนี้จะติดตามสถานการณ์ต่อไป และอาจจะปรับเป้าหมายในการขายที่ดินหลังจากครึ่งปีหลังไปแล้ว

 

มาแล้วสินค้าจีนทะลักไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในด้านลบจากสงครามการค้า ส่งผลให้สินค้าจีนที่ถูกขึ้นภาษีสูงต้องหาที่ระบายสินค้า ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายซึ่งขณะนี้มีรูปธรรมการนำเข้าสินค้าจีนของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2561 ไทยขาดดุลการค้าจีน 6.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3 แสนล้านบาท และช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ไทยขาดดุลจีน 2.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.9 หมื่นล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

“การนำเข้าสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้นมาจาก 3 ช่องทางคือ 1. การค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน เช่นเครืออาลีบาลา และอื่นๆ 2.ผ่านผู้นำเข้าหรือบริษัทเอสเอ็มอีของไทยที่นำสินค้าจีนมาจำหน่าย หลังจากสู้ราคาสินค้าจีนไม่ไหว บางรายปิดตัวลง หรือปิดไลน์ผลิตหันนำเข้าสินค้าจีนมาขายแทนเพราะถูกกว่า และ 3.การลักลอบนำเข้าตามตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะกองทัพมดเพื่อเลี่ยงภาษี ซึ่งหากสงครามการค้ายืดเยื้อ สินค้าจีนจะทะลักเข้ามามากขึ้น”

เรื่องนี้ขอให้รัฐบาลช่วยดูแลเพื่อไม่ให้สินค้าจีนมาดัมพ์ราคาขายถูก ทำให้ผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนมากขึ้นทุกขณะ เช่นกระทรวงพาณิชย์ช่วยดูแลเรื่องการทุ่มตลาด กระทรวงการคลังเรื่องการจัดเก็บภาษี รวมถึงด่านศุลกากร ตำรวจ ทหารให้ช่วยดูแลสอดส่องสินค้าลักลอบนำเข้าให้เข้มงวด และเสนอให้ตั้งวอร์รูมร่วมภาครัฐและเอกชน(กกร.) และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้เพื่อติดตามและวางแผนรับมือสถานการณ์ได้ดีขึ้น

นายสินเมธ อิ่มเอม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ปัญหาเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนทะลักเข้ามาทำตลาดในไทยไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่มีสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเท่านั้นแต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับจีน(ในนาม FTAอาเซียน-จีน)ที่ได้ปรับเพดานภาษีนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนไม่เกิน 5% ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายจากจีนได้เข้ามาทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการนำแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากจีนเข้ามาทำตลาด และการนำชิ้นส่วนจากจีนเข้ามาประกอบในแบรนด์ไทย แต่ทั้งนี้ยังไม่กระทบต่อภาพรวมการแข่งขันในตลาดมากนักเนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังนิยมสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่น และเกาหลี 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,474 วันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

จีนบุกอีอีซี  เทรดวอร์บีบย้ายฐาน ‘WHA-อมตะ’เปิดพื้นที่รับอุตฯยานยนต์