มองอาเซียน ผ่านการค้าภาคบริการ

29 พ.ค. 2562 | 04:00 น.

ในช่วงที่ผ่านมา การค้าภาคบริการ (Services Trade) มีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของภาคบริการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเพียงช่วงหลังวิกฤติการเงินโลกในปี 2550-2551 ที่มีการชะลอตัว ในช่วงดังกล่าว การส่งออกภาคบริการของอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า ส่วนการนำเข้าบริการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2 เท่า และในปี 2558 อาเซียนเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำเข้าสุทธิ มาเป็นผู้ส่งออกสุทธิในภาคบริการ

 เหตุใดการค้าภาคบริการจึงมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ? ในยุคที่เศรษฐกิจโลกอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้หลายบริการสามารถเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศได้ ประกอบกับการเติบโตของการค้าภาคบริการที่ขยายตัวสูงกว่าการค้าภาคสินค้า จึงทำให้การค้าภาคบริการมีบทบาทที่มากขึ้นในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ การค้าภาคบริการยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะภาคบริการที่มีการค้าระหว่างประเทศ หากแต่กระจายไปยังภาคบริการอื่นๆ รวมถึงภาคการผลิต เนื่องจากในทุกภาคการผลิตในระบบเศรษฐกิจมีภาคบริการเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตเสมอ ส่งผลให้มีแนวคิดใหม่ที่ว่าการค้าภาคบริการเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ในกลุ่มประเทศอาเซียน สมาชิกที่เป็นผู้ส่งออกและนำเข้าหลักในภาคบริการคือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จากข้อมูลของ ASEAN Secretariat พบว่าการค้าภาคบริการของอาเซียนมีมูลค่าสูงใน 3 ภาคบริการหลักที่อาเซียนมีศักยภาพคือ ท่องเที่ยว ขนส่ง และบริการธุรกิจอื่นๆ

 

มองอาเซียน  ผ่านการค้าภาคบริการ

       

       

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาคบริการของอาเซียนที่มีการเติบโตด้านการส่งออกสูง พบว่าอยู่ในกลุ่มของทรัพย์สินทางปัญญา ประกัน และบำนาญและบริการด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Telecommunication and ICT) ส่วนภาคบริการที่มีการนำเข้าเติบโตสูงคือ บริการด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การซ่อมบำรุงและการซ่อมแซม และบริการทางการเงิน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การค้าภาคบริการในอาเซียนที่เติบโตสูงอยู่ในกลุ่มของ Modern Services ซึ่งเป็นการค้าภาคบริการที่สามารถดำเนินการผ่าน ICT ในขณะที่ภาคบริการในกลุ่ม Traditional Services เช่น ท่องเที่ยว ขนส่ง และบริการธุรกิจอื่นๆ เป็นส่วนที่มีประเทศสมาชิกอาเซียนมีศักยภาพในการส่งออก และเป็นส่วนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ

เมื่อมองถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต คำถามหนึ่งที่สำคัญคือ ควรมีแนวทางการพัฒนาอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจอาเซียนมีการเติบโตไปข้างหน้าหลายงานวิจัยในช่วงที่ผ่านมาระบุว่า การค้าภาคบริการเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ประกอบกับเมื่อพิจารณานโยบายการพัฒนาของหลายประเทศในอาเซียน พบว่ามีแนวทางการพัฒนาที่เน้นภาคบริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการพัฒนาด้าน ICT ซึ่งเป็นพื้น ฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล

 

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาภาคบริการในระดับสูง เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain: GVC) ในระดับสูง ซึ่งเมื่อภาคบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะส่งผลไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน GVC

ในขณะที่การค้าภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้นในอาเซียน การเปิดเสรีภาคบริการก็มีความคืบหน้าเช่นเดียวกัน โดยในวันที่ 23 เมษายน 2562 ในช่วงการประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 25 ที่กระทรวงพาณิชย์ไทยเป็นเจ้าภาพ จังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement :ATISA) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 180 วันหลังการลงนาม

ความตกลง ATISA ซึ่งมีมาตรฐานสูงและครอบคลุมในทุกสาขาบริการ จะมีส่วนช่วยในการยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดอุปสรรคทางการค้าที่เกินความจำเป็น รวมทั้งช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของประเทศสมาชิกอาเซียน

โดยสรุปคือ จากการค้าภาคบริการที่มีความสำคัญมากขึ้นต่ออาเซียน บทบาทในฐานะปัจจัยที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปิดเสรีภาคบริการที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้ ATISA ทำให้ทุกภาคส่วนควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการ เพื่อให้สามารถรองรับการเปิดเสรีที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคตต่อไป

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3474 วันที่ 30 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2562

มองอาเซียน  ผ่านการค้าภาคบริการ