สมาพันธ์แรงงาน บุกทำเนียบ! จี้รัฐเปิดข้อมูล EEC-ไฮสปิดเทรน อย่างโปร่งใส

28 พ.ค. 2562 | 05:14 น.

"สาวิทย์" นำสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พร้อมภาคประชาชนกว่า 100 คน ยื่นข้อเรียกร้องจากรัฐบาล จี้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอย่างโปร่งใส พร้อมให้เปิดเผยสัญญาที่จะลงนามกับเอกชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันนี้ (28 พ.ค.) ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาร่างสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.) และเอกชนผู้ชนะประมูลโครงการ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธิมตร ก่อนที่จะมีการเดินหน้าลงนามในสัญญาในช่วงกลางเดือน มิ.ย.ต่อไปนั้น

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้นำกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนกว่า 45 กลุ่ม เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รวมทั้งชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวนกว่า 100 คนเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ดำเนินการโครงการอีอีซี และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อย่างโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยในการยื่นหนังสือครั้งนี้มีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว

 

 

 

สมาพันธ์แรงงาน บุกทำเนียบ! จี้รัฐเปิดข้อมูล EEC-ไฮสปิดเทรน อย่างโปร่งใส

นายสาวิทย์กล่าวอีกว่าตามที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการอีอีซี และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สนามบิน คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้พิจารณาคัดเลือกกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นผู้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการไปแล้วนั้นจากการติดตามข้อมูลข่าวสารตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พวกข้าพเจ้าในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการอีอีซี และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภาคประชาชนรู้สึกกังวลและเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่มากกว่าการพัฒนาที่จะสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติตามที่รัฐบาลได้มุ่งหวังไว้ โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านชีวิตและความเป็นอยู่ทั้งด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ตลอดทั้งด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกหลายประการ

ประการสำคัญตามที่รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดนโยบายและออกฎหมายเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในเวลาต่อมา พร้อมกับได้มีการตราพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งกฏหมายฉบับดังกล่าว ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนักลงทุนมากมาย ในขณะที่สังคมก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามเพื่อให้ชะลอโครงการแล้วเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแต่ก็ไม่เป็นผล ในปัจจุบันการดำเนินโครงการมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของพี่น้องประซาซนในพื้นที่ รวมทั้งในอนาคตที่จะส่งผลกระทบแก่ระบบเศรษฐกิจทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม อีกด้านหนึ่งรัฐบาลกำหนดให้มีการลงทุนในโครงสร้างฟื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้มีการประมูลไปแล้วผู้ที่ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 และโครงการดังกล่าวก็ถูกตั้งคำถามมากมายถึงความไม่โปร่งใสเช่นกัน

สมาพันธ์แรงงาน บุกทำเนียบ! จี้รัฐเปิดข้อมูล EEC-ไฮสปิดเทรน อย่างโปร่งใส

สมาพันธ์แรงงาน บุกทำเนียบ! จี้รัฐเปิดข้อมูล EEC-ไฮสปิดเทรน อย่างโปร่งใส

“โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท รัฐบาลอาจเสียประโยชน์จากสัญญาร่วมทุนกับกลุ่ม CP และพันธมิตร ซึ่งรัฐบาลควรจะระมัดระวังในการร่างสัญญามากกว่านี้ ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นสัญญาเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนในโครงการที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ซึ่งเห็นได้จากการต่อรองจากกลุ่มทุนที่ชนะประมูลมีหลายข้อที่ไม่ชอบมาพากล เช่น ให้รัฐบาลการันตีว่าจะไม่ขาดทุน หรือรัฐต้องอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก พร้อมกับหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำยังไม่นับรวมการขอขยายเวลาสัญญาเป็น 99 ปีหรือแม้กระทั่งการขอปรับเส้นทางการเดินรถไม่ว่าจะขึ้นลอยฟ้าหรือบนดิน แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกกลุ่ม CP ถอนออกไปแล้วแต่ รายละเอียดของสัญญาจริงๆยังไม่มีใครรู้เห็น”