‘สร้างป่า สร้างรายได้’ กับโครงการนำร่องป่าน่าน

03 มิ.ย. 2562 | 04:20 น.

โครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 และปีนี้ถือเป็นปีที่ได้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งเรื่องของที่ทำกินของชาวบ้าน และการสร้างป่า สร้างรายได้ โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน รวมทั้งการระดมความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทัพบก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจังหวัดน่าน 

‘สร้างป่า สร้างรายได้’ กับโครงการนำร่องป่าน่าน

เรื่องของที่ดินทำกิน “ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้รายละเอียดว่ามีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีที่ทำกินอย่างถูกต้อง ด้วย พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 และมีการสร้างสมดุลระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชน ด้วยระบบพื้นที่ป่าไม้ หรือการโซนนิ่ง การปลดล็อกการตัดไม้หวงห้าม 158 ชนิด และ ไม้หายาก 13 ชนิด ในที่ดินเอกชน ที่ไ่ด้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์, นส.3ก, สค.1 และสามารถใช้ไม้ยืนต้นหลากชนิดเป็นหลักประกันเงินกู้รูปแบบใหม่ ด้วย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 รวมทั้งการสร้างกฎกติกาในการใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกัน โดยจะมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ....ที่กำลังจะตามออกมา  

อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ คือ การส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่ม ซึ่งขณะนี้มีโครงการนำร่อง ที่จัดทำโดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ธนาคารกสิกรไทย ภาครัฐและเอกชนที่ร่วมสนับสนุน คือ โครงการสร้างอาชีพ : นำร่องปลูกพืชสมุนไพร ที่หมู่บ้านห้วยลอย 

 

‘สร้างป่า สร้างรายได้’ กับโครงการนำร่องป่าน่าน

“ดร.จันทรารักษ์ โตวรานนท์” หัวหน้าโครงการสวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา เล่าว่า ชาวบ้านห้วยลอยได้เล็งเห็นความสำคัญของป่า รวมตัวกันยกพื้นที่ทำกิน 1,750 ไร่ คืนให้กับทหารและรัฐบาล เพื่อไปปลูกป่า ทางทีมงานจึงเลือกพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมการสร้างอาชีพ ด้วยการเลือกส่งเสริมสิ่งที่ชาวบ้านปลูกอยู่แล้วคือ ไพลและขมิ้น ซึ่งเป็นสมุนไพรที่สร้างได้แบบอย่างยั่งยืน และยังส่งเสริมการปลูกโกโก้ ไม้ยืนต้นที่สามารถเก็บผลได้ตลอดทั้งปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน คือ โกโก้ วัลเล่ย์ ที่มอบทั้งต้นกล้า และพร้อมรับซื้อผลผลิตโกโก้ทั้งหมด โดยขณะนี้มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ 53 ครัวเรือน จากทั้งหมด 105 ครัวเรือน และสามารถสร้างรายได้ล็อตแรกแล้วกว่า 1 หมื่นบาท หลังเริ่มต้นปลูกเมื่อพฤษภาคม 2561 และเก็บรอบแรกเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

  สิ่งที่ทางทีมงานจะส่งเสริมต่อไป คือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมาเป็นสินค้าต่างๆ เช่น ครีมบำรุงผิว ลูกประคบ เม็ดฟู่แช่เท้า ผงชา และอื่นๆ นอกเหนือจากการนำ ไพล และขมิ้นสด ไปอบแห้ง ที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา เพิ่มรายได้จาก กิโลกรัมละ 12-15 บาท เป็น 150 บาท โดยขณะนี้มีผู้สนใจต้องการซื้อจำนวนมากรออยู่แล้ว และเมื่อพื้นที่นี้ประสบความสำเร็จ ก็จะขยายพื้นที่ไปยังส่วนอื่นๆ ต่อไป 

‘สร้างป่า สร้างรายได้’ กับโครงการนำร่องป่าน่าน

“บัณฑูร ลํ่าซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้ริเริ่มโครงการรักษ์ป่าน่าน บอกว่า ขณะนี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี แต่โจทย์ของจังหวัดน่านเป็นโจทย์ที่ยาก และต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยสิ่งที่จำะทำให้การแก้ไขนั้นสัมฤทธิ์ผล ก็ต้องมีการคำนวณผลที่ได้ให้ชัดเจน หากผลสุดท้ายออกมาเป็นบวกจึงจะใช้ได้ และเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ที่เป็นพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ คือ การส่งต่อความรู้ที่ได้ ไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง โดยพระองค์ได้ทรงบรรยายตอนหนึ่งในเรื่อง สร้างป่า สร้างรายได้ ว่า องค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้ ควรส่งต่อไปเด็กเล็กๆ ควรสร้างความตระหนักรู้กันตั้งแต่เด็กอนุบาล เพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

‘สร้างป่า สร้างรายได้’ กับโครงการนำร่องป่าน่าน