อยากปลดล็อกม.44 !!! เสียงตะโกนจากชาวไร่อ้อย สูญแล้ว 6 พันล้าน

25 พ.ค. 2562 | 07:07 น.

 

 

         อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกำลังถูกจับตามองอีกครั้ง เพราะเป็นประเด็นที่ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต่างเป็นห่วง  เพราะเป็นเรื่องของรายได้ที่เข้าระบบอ้อยและน้ำตาลที่ลดลง เมื่อจัดสรรปันส่วนรายได้ในระบบอ้อยและนำ้ตาลจะนำไปแบ่งให้ชาวไร่อ้อยสัดส่วน 70% เป็นค่าตัดอ้อย ปลูกอ้อย และสัดส่วน 30% เป็นค่าตอบแทนการผลิตและจำหน่ายนำ้ตาลของโรงงานนำ้ตาล

       วันนี้รายได้เข้าระบบลดลงมีสาเหตุหลักมาจาก สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ รวมถึงภาครัฐไม่อยากขัดกับข้อตกลงทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบการจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศ โดยการยกเลิกโควตา ใช้มาตรา 44 เรื่องยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศเป็นกลไกขับเคลื่อน

    

       จากมติครม.เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ที่เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน ฉบับ และร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน ฉบับ รวม ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ประกอบด้วย   1.แนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย  2.ยกเลิกการกำหนดโควตา โดยให้โรงงานต้องมีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณ Buffer Stock ที่กำหนดปริมาณน้ำตาลทรายส่วนที่จะใช้เพื่อจำหน่ายส่งออก โดยให้คงจำนวน 400,000 ตันเท่าเดิม 3.แนวทางการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย  4.ปรับปรุงร่างประกาศและร่างระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดราคาขายเปลี่ยนวิธีการในการคำนวณรายได้ขั้นต้นและรายได้ขั้นสุดท้าย 

อยากปลดล็อกม.44 !!! เสียงตะโกนจากชาวไร่อ้อย สูญแล้ว 6 พันล้าน

    การดำเนินการดังกล่าว  หวังว่าจะทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศเป็นไปอย่างสอดรับกับข้อตกลงทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)  เขตการค้าเสรีอาเซียน  (AFTA)  และเป็นที่ยอมรับของสากลมากยิ่งขึ้น และมองว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ

อยากปลดล็อกม.44 !!! เสียงตะโกนจากชาวไร่อ้อย สูญแล้ว 6 พันล้าน

 

  ล่าสุดเมื่อมองถึงระบบอ้อยและน้ำตาล กลับกลายเป็นปัญหา เนื่องจากขณะนี้เงินสูญไปจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งโรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย เพราะเวลานี้ราคาขายน้ำตาลหน้าโรงงานก่อนที่จะมีมาตรา 44 ราคาเคยยืนอยู่ที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม  พอมีมาตรา 44  เรื่องยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ  ทำให้ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานลงมาอยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม  จนปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานลงไปอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว  และผลดังกล่าวทำให้ระบบอ้อยและน้ำตาล ต้องสูญเงินไปจากระบบแล้วราว 6,000 ล้านบาทหรือมากกว่านี้  ซึ่งรายได้ในระบบอ้อยและนำ้ตาลจะนำไปแบ่งให้ชาวไร่อ้อยสัดส่วน 70% และ 30%ให้โรงงานนำ้ตาล

    

“วงการอ้อยและน้ำตาลเองก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า หากยกเลิกการกำหนดราคาในประเทศ ยกเลิกโควตา ต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ จะกดให้ราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินอีกแค่ไหน ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะราคาน้ำตาลขึ้นอยู่ที่ราคาตลาดโลกด้วย  เช่นเดียวกัน เมื่อยกเลิกระบบโควตา ปริมาณน้ำตาลในประเทศก็ไม่ใช่ที่ตัวเลข 25 ล้านกระสอบแบบที่ผ่านมา  แต่ปริมาณน้ำตาลในประเทศทั้งหมดที่ผลิตได้มีมากถึง 140 ล้านกระสอบ ทำให้โรงงานน้ำตาลแข่งกันขายในราคาตัดหน้ากันเอง” ผู้ประกอบการในวงการอ้อยและน้ำตาลสะท้อนปัญหาให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นในขณะนี้และกำลังจะกลายเป็นปัญหา

อยากปลดล็อกม.44 !!! เสียงตะโกนจากชาวไร่อ้อย สูญแล้ว 6 พันล้าน

-3 สมาคมโรงงานน้ำตาลร้อง 3 ข้อ

   จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเกิดความกังวล  และเริ่มมีเสียงฮึ่ม ๆ  มาเป็นระยะ  จนล่าสุด 3  สมาคมโรงงานน้ำตาล ซึ่งประกอบด้วย สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ยื่นหนังสือถึงนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นั่งเป็นประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย  ให้พิจารณาเรื่องการบริหารจัดการน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคภายในประเทศ  ที่ทั้ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มีความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการน้ำตาลทรายภายในประเทศใหม่  โดยรายละเอียด สามารถสรุปปัญหาได้ 3 ส่วนหลักคือ

 

1.การบริหารจัดการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศระบบใหม่ ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างโรงงาน ทั้งด้านปริมาณและราคา ทำให้ราคาลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และยังส่งผลให้จำนวนเงินส่วนต่างระหว่างราคาสำรวจกับราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอน บวกพรีเมียมน้ำตาลไทย ที่โรงงานต้องนำส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายลดลงต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่คาดไว้ จนทำให้รายได้ของระบบลดลง เป็นเหตุให้ราคาอ้อยที่คำนวณได้อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อย ที่มีราคาไม่คุ้มต่อต้นทุนการผลิตและไม่เพียงพอต่อการยังชีพ

 

2.การกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายสำรอง(Buffer stock) ให้แต่ละโรงงานจัดเก็บตามสัดส่วนการผลิต เป็นการสร้างภาระให้แก่โรงงานที่ต้องเก็บรักษาไว้ตลอดเวลา  โดยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวแต่ประการใด

3.การบริหารจัดการน้ำตาลทรายตามระบบใหม่ ยังไม่ได้เป็นไปอย่างเสรี เนื่องจาก 1)โรงงานจะต้องรับซื้ออ้อยตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 2)โรงงานจะต้องส่งมอบน้ำตาลทรายดิบ ให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ตามสัดส่วนการผลิตในแต่ละฤดูการผลิต เพื่อกำหนดราคามาตรฐานในการคำนวณรายได้ของระบบฯ 3)โรงงานและชาวไร่อ้อย จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบตามสัดส่วนการผลิต

อยากปลดล็อกม.44 !!! เสียงตะโกนจากชาวไร่อ้อย สูญแล้ว 6 พันล้าน

  จากข้อเท็จจริงและประเด็นปัญหาข้างต้นนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้มีการพิจารณาและเห็นว่า ระบบการบริหารจัดการน้ำตาลทรายภายในประเทศปัจจุบัน เป็นเพียงการยกเลิกโควตา และลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศ  แต่ยังคงมาตรการควบคุมกำกับดูแลตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย การขนย้ายและการส่งออกทุกขั้นตอนภายใต้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 จึงสร้างความไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างโรงงานน้ำตาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบต่อรายได้ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวม อาจทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายล่มสลายได้ในที่สุด

 

-ชงปรับปรุงระบบบริหาร 2 ส่วนหลัก

   3 สมาคมจึงเสนอให้ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำตาลทรายภายในประเทศ 2 ส่วนหลักคือ 1. ยกเลิกการสำรองน้ำตาลทรายภายในประเทศ (Buffer Stock) แล้วนำวิธีการกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อบริโภคให้สมดุลและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันมาใช้แทน ซึ่ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องนี้แล้วและเห็นว่า สามารถกระทำได้และไม่ขัดกับพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก(WTO) หากมิได้มีการประกาศควบคุมราคาโดยปล่อยให้ลอยตัวตามกลไกการตลาด

2.ปรับปรุงแก้ไขระเบียบและประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2561 ที่เกี่ยวข้อง จากที่ครม.เมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม 2560 มีมติตามร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 1ฉบับ และร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน ฉบับ  รวม ฉบับ ให้กลับมาใช้เหมือนเดิมก่อนที่มีมติครม.ดังกล่าวออกมา เช่น ให้กลับไปใช้ระบบโควตาน้ำตาลเหมือนเดิม ส่วนราคาก็ปล่อยให้ลอยตัวได้ เป็นต้น

อยากปลดล็อกม.44 !!! เสียงตะโกนจากชาวไร่อ้อย สูญแล้ว 6 พันล้าน

   ข้อมูลทั้งหมดที่ 3 สมาคมเสนอขอให้ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำตาลทรายภายในประเทศนั้น ตามรายละเอียดในหนังสือที่ยื่นถึงประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย  ระบุไว้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างโรงงานในการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ และมีปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคอย่างเพียงพอ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่วงเวลา  และทำให้ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศปรับตัวอยู่ในระดับเป้าหมายที่คาดไว้  ซึ่งจะช่วยให้รายได้ของระบบ ที่จะมาคำนวณราคาอ้อยเพิ่มขึ้นได้

 

     ดูจากเงื่อนเวลาเรื่องการยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ ดูตามประกาศม.44 เมื่อ 15 มกราคม 2561 ก็จะครบกำหนด 2 ฤดูการผลิตในวันที่ 30 กันยายน 2562 ยังต้องจับตาว่า สุดท้ายจะคงอยู่ต่อไปหรือประกาศยกเลิกในรัฐบาลใหม่และกลับไปใช้ระบบโควตาเหมือนเดิม หลังจากที่รายได้เข้าระบบอ้อยและน้ำตาลหายวับไปกับตา และกำลังไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆแบบที่เป็นอยู่!

 

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

อยากปลดล็อกม.44 !!! เสียงตะโกนจากชาวไร่อ้อย สูญแล้ว 6 พันล้าน