ธนชาต ยันคุมรายได้ผู้กู้ไม่หวั่นสัญญาณเข้มธปท.

27 พ.ค. 2562 | 00:15 น.

ด้วยกลยุทธ์ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์ กลาง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของลูกค้าควบคู่กับการบริหารจัดการจนสร้างฐานธุรกิจหลัก และสามารถครองใจลูกค้าเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งยังคงมีพัฒนาการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องทั้งช่องการออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาธนชาตนำร่องเสนอบริการสินเชื่อรถยนต์ผ่านช่องทางดิจิทัลสะท้อนถึงความพร้อมตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไม่ตกเทรนด์  

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งข้อสังเกตว่าการเร่งปล่อยสินเชื่อในหมวดรถยนต์ทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อรถ สินเชื่อรถแลกเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทลีสซิ่งมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง สะท้อนการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือน  ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเช่าซื้อ ขณะที่ตลาดประเมินธปท.จะออกมาตรการควบคุมกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อนั้น

นายป้อมเพชร รสานนท์   รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะส่งสัญญาณเข้ามาควบคุมดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในส่วนของวงเงินการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) นั้น ธนาคารมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่อง จากธนาคารมีเครื่องมือคัดแยกลูกค้า และการประเมินเครดิตความเสี่ยงลูกค้า (Credit Scoring) เพื่อกรองลูกค้า โดยกำหนดวางเงินดาวน์เฉลี่ยอยู่ที่ 15-20% และลูกค้าจะต้องมีรายได้มากกว่าค่าผ่อนรถยนต์เฉลี่ย 2 งวด หรือคิดเป็นสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) อยู่ที่ 50% 

ธนชาต ยันคุมรายได้ผู้กู้ไม่หวั่นสัญญาณเข้มธปท.

ป้อมเพชร รสานนท์

ดังนั้นจากเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับตํ่าที่ 1% จากทั้งระบบอยู่ที่ 1.6% รวมถึงปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ที่เข้ามาค่อนข้างมีคุณภาพ และคู่ค้าก็สามารถปิดยอดการขายได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเครื่องมือที่ใช้และการรักษาคุณภาพการแข่งขันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ ประเมินว่ายังคงขยายตัวได้ตามยอดขายรถยนต์ที่ผู้ผลิตรถยนต์คาดการณ์ว่าจะใกล้เคียงราว 1 ล้านคัน ถือว่าเติบโตได้ดี ซึ่งในส่วนของธนาคารธนชาตตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่ระดับ 6% จากยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งไตรมาสที่ 1ปีนี้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า (ย้อนหลัง 3ปียอดสินเชื่อคงค้างสะท้อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ 4.32แสนล้านบาทขยายตัว 13.71% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีจำนวน 3.80 แสนล้านบาทและเติบโตเพิ่มขึ้นในอัตรา 8.91% จากช่วงเดียวกันปี 2560 อยู่ที่ 3.49 แสนล้านบาท )

ขณะที่ทิศทางในช่วงไตรมาสที่ 2 และที่เหลือของปีนี้ ธนาคารยังมองการเติบโตน่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายทั้งปีที่ 6% อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างทางอาจจะมีทั้งปัจจัยบวกและลบเข้ามากระทบบ้าง เช่น ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

“แนวโน้มไตรมาสที่ 2 การเติบโตอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่มีทั้งบวกและลบ แต่เชื่อว่าทั้งปีสินเชื่อจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6% โดยในไตรมาสแรกถือว่าทำได้ค่อนข้างดี เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนเรื่องธปท.จะเข้ามาคอนโทรลมากขึ้นนั้น เราไม่ห่วง เพราะตอนนี้เราให้ลูกค้าวางดาวน์ 15-20% และลูกค้าต้องมีรายได้มากกว่าค่าผ่อนงวดรถมากกว่า 2 งวด นอกจากนี้เรายังมีเครื่องมือต่างๆ ที่เข้ามาช่วยให้การปล่อยสินเชื่อมีประสิทธิภาพและคุณภาพ” 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,473 วันที่ 26 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562


ธนชาต ยันคุมรายได้ผู้กู้ไม่หวั่นสัญญาณเข้มธปท.