5คดีรุมเร้า‘ธนาธร’ ‘ถอนสิทธิ-ติดคุก-ยุบพรรค’

25 พ.ค. 2562 | 01:00 น.

เรียกได้ว่าตกอยู่ในอาการกระอักเลือด ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้วินิจฉัย กรณีการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญ ม. 82 ว่า สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ นายธนาธร ให้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม. 101 (6) ประกอบ ม. 98 (3) หรือไม่

ทั้งยังมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง นับเป็นคดีแรกของ นายธนาธร ที่เริ่มนับหนึ่งในชั้นศาล

สำหรับคดีนี้ถูกสื่อตั้งข้อสังเกตว่า นายธนาธร ผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ ถือครองหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อ จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นเวลาหลังสมัครรับเลือกตั้ง อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กระทั่ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. รับเรื่องและตั้งคณะกรรม การสอบสวนขึ้น

ขณะที่การออกมาชี้แจงของนายธนาธรอย่างต่อเนื่องนั้น ยิ่งสร้างปมส่อพิรุธมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยอมรับว่า ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว 675,000 หุ้น มาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 จริงแต่ตัวเขาและภรรยาได้โอนหุ้นให้ มารดา คือ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้บริษัทจากเดิมมีผู้ถือหุ้น 10 คน เหลือ 8 คน ส่วนการบันทึกทางทะเบียนว่า เพิ่งโอนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 นั้นเป็นขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ซึ่งเขาไม่รับรู้ด้วย

แย้งกับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทวันที่ 19 มีนาคม 2562 ที่มีผู้ถือหุ้นร่วมประชุม 10 คน แต่นายธนาธรก็ยังแก้ต่างว่า หลังโอนหุ้นให้มารดาแล้ว วันที่ 14 มกราคม 2562 มารดาได้โอนหุ้นให้กับหลาน 2 คนจึงมีผู้ถือหุ้นบริษัทเป็น 10 คน และในวันประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวเขาอยู่ระหว่างเดินทางหาเสียงอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่
ทั้งวันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมาร่วมประชุมผู้ถือหุ้นในวันดังกล่าว เป็นต้น

ทั้งนี้ หากในช่วงที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. นายธนาธรยังถือครองหุ้นธุรกิจสื่ออยู่ อาจเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ตาม ม.98(3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เขียนรับไว้ใน ม.42(3) คือ ห้ามถือหุ้นสื่อตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง

หากรู้อยู่แล้วว่าตนเองขาดคุณสมบัติแต่ยังกระทำ มีโทษหนักทางอาญา คือ จำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-2000,000 บาท รวมถึงถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี

5คดีรุมเร้า‘ธนาธร’  ‘ถอนสิทธิ-ติดคุก-ยุบพรรค’

ปล่อยกู้พรรคตัวเอง110 ล.

อีกคดีร้อน ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีนายธนาธร ปล่อยกู้ให้พรรคตัวเอง 110 ล้านบาท ซึ่ง นายศรีสุวรรณ เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ กรณีที่ได้กล่าวบรรยายที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยว่า ให้เงินทางพรรคอนาคตใหม่ยืมไปแล้วราว 110 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ขัดหรือฝ่าฝืน ม.66 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ เนื่องจากรายได้ของพรรคการเมืองตาม ม.62 ไม่ได้ระบุให้บุคคลใดหรือให้พรรคการเมืองใดสามารถกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจกรรมของพรรคการเมืองได้

ถ้าหากการดำเนินการดังกล่าวของนายธนาธร เป็นการขัดหรือฝ่าฝืนกฎหมายข้างต้นก็อาจจะมีความผิดตาม ม.124 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ก็จะมีบทลงโทษตาม ม.125 พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี และกกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคต่อไป

 

ปม“Blind Trust”ค้างกกต.

อีกคดีที่จ่อคอนายธนาธร คือ กรณี โอนทรัพย์สินมูลค่า 5 พันล้านไป Blind Trust ดูแลโดยนายศรีสุวรรณ ยื่นกกต.ให้ตรวจสอบว่า กระทำการเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมอันเป็นความผิดตาม ม.73 (5) ของพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. หรือไม่ เนื่องจากธนาธรระบุในช่วงรณรงค์หาเสียงอ้างว่า เป็นนักการเมืองคนแรกที่ใช้แนวทาง Blind Trust คือ การโอนทรัพย์สินไปให้ ทรัสต์ หรือ กองทุนเป็นผู้ดูแลเพื่อแสดงความโปร่งใส ซึ่งสำนักงาน กกต.ได้สั่งรับเรื่องร้องเรียนไว้ และ
ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วเช่นกัน

สำหรับเรื่องนี้ถูกนักการเมืองหลายรายออกมาตอบโต้อย่างหนักว่า นายธนาธรนั้นไม่ ใช่คนแรกที่ใช้แนวทาง Blind Trust นี้ จากการรวบรวมข้อมูลของสื่อ พบว่านับตั้งแต่รัฐบาลชวน หลีกภัย จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนักการเมืองทำในลักษณะเช่นเดียวกันนี้มาแล้ว 15 ราย ไม่ว่าจะเป็น นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรมว.มหาดไทย, นายวีระชัย วีระเมธีกุล อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรมช.พาณิชย์, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ, นายกิตติรัตน์ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พาณิชย์ เป็นต้น

5คดีรุมเร้า‘ธนาธร’  ‘ถอนสิทธิ-ติดคุก-ยุบพรรค’

คดีนี้หาก กกต.วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนตาม ม.73(5) จะมีบทลงโทษตาม ม.195 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี

หลายคดี “รุมเร้า” นายธนาธรจุดจบและปลายทางจะเป็น อย่างไร ต้องคอยติดตาม... 

 

 

 

‘ธนาธร’ลุ้น2คดีอาญา

 

อีก 2 คดีอาญาที่นายธนาธร ต้องรอลุ้นผลเช่นกัน คดีแรกเป็นคดีที่พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานด้านกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหา นายธนาธรกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา 2 ข้อหา คือ ความผิดตามม.116 ร่วมกันทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และ ผิดม.189 ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เหตุจากเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 มีการจัดชุมนุมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในช่วงรัฐบาลคสช. แกนนำการชุมนุมถูกออกหมายจับ กลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย นายรังสิมันต์ โรม พร้อมพวกจึงรวมตัวชุมนุมล้อมโรงพักปทุมวัน หลังการชุมนุมทหารตำรวจออกติดตามผู้มีหมายจับ รวมถึงนายรังสิมันต์ โรม กับพวก ที่ไหวตัววิ่งหลบหนีการจับกุม กระทั่งมีรถตู้มารับตัวพาไปหลบซ่อนการจับกุมดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า รถตู้คันดังกล่าวเป็นของมารดานายธนาธร รวมทั้งวันเกิดเหตุนายธนาธรก็ปรากฏตัวในที่ชุมนุมด้วย จึงออกหมายจับดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้นายธนาธรให้การภาคเสธในวันเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่สน.ปทุมวัน เพื่อให้ถ้อยคำเมื่อวันที่ 6 เมษายน แม้จะยอมรับว่า ไปร่วมชุมนุมเพื่อให้กำลังใจการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่ไม่มีส่วนชี้นำหรือชักจูงใดๆ กระทั่งเมื่อจะเดินทางกลับ พบกลุ่มนายรังสิมันต์กับพวกจึงรับขึ้นรถและอาสาพาไปส่งที่พักเท่านั้น

อีกคดีเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ส่งสำนวนคดี พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องในคดีอาญา ระหว่าง คสช. โดยพ.อ.บุรินทร์ ผู้กล่าวหา และนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายไกลก้อง ไวทยากร นายทะเบียนพรรค นางสาวจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กรรมการบริหารพรรค เป็นผู้ต้องหาที่ 1-3 ในความผิดพ.ร.บ.การกระทำความผิดทาง คอมพิวเตอร์ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ

จากกรณีนายธนาธรกับพวก ร่วมจัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้ประชาชน” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในเพจอนาคตใหม่ The Future We Want และเพจ Thanathorn Juang roong ruangkit วิจารณ์กระแสข่าวกรณีพลังดูดของคสช. ในช่วงเริ่มเคลื่อนไหวตั้งพรรคพลังประชารัฐ

โดยคดีนี้พนักงานอัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมือง

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3473 ระหว่างวันที่ 26 - 29 พฤษภาคม 2562

5คดีรุมเร้า‘ธนาธร’  ‘ถอนสิทธิ-ติดคุก-ยุบพรรค’