มะกันแบนหัวเว่ยสะเทือนเลื่อนลั่นถึงเอเชีย

26 พ.ค. 2562 | 01:00 น.

จากคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีผลทำให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯขึ้น บัญชีดำ (Entity List)ห้ามบริษัทอเมริกันค้าขายกับหัวเว่ย เทคโนโลยี และลูกเครืออีก 68 บริษัทโดยไม่ผ่านกระบวนการขออนุมัติจากภาครัฐตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 แต่มีระยะผ่อนปรนเป็นเวลา 90 วัน เปิดช่องให้หัวเว่ย ยังสามารถซื้อฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จากบริษัทอเมริกันได้จนถึงกลางเดือนตุลาคมนี้ สำหรับการรักษาเครือข่ายและการอัพเดตซอฟต์แวร์ที่จำเป็นสำหรับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยที่มีอยู่แล้ว แต่ยังคงคำสั่งห้ามการซื้อขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการผลิตสินค้าใหม่ของหัวเว่ย เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสหรัฐฯนั้น

 

ซัพพลายเออร์ระสํ่าทั้งยวง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้บริษัทเอกชนของสหรัฐฯหลายรายเริ่มขยับตัวเตรียมระงับการทำธุรกิจการค้ากับหัวเว่ยแล้วเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่อ้างเหตุผลด้านความมั่นคง โดยในบรรดาบริษัทซัพพลายเออร์ฝ่ายสหรัฐฯที่ออกข่าวเตรียมดำเนินการแล้วนั้น ได้แก่ กูเกิล (ในเครืออัลฟาเบ็ท) ไมโครซอฟท์ อินเทล ควอลคอมม์ และบรอดคอม ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบริษัทในเอเชีย อย่าง พานาโซนิค ซอฟต์แบงก์ และเคดีดีไอ จากญี่ปุ่น ที่มีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางการ “แบน” หัวเว่ย สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯด้วย เรื่องนี้สร้างความปั่นป่วนไปทั้งอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก เนื่องจากหัวเว่ย ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเสินเจิ้น เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลกในแง่รายได้ (ทำสถิติรายได้ 105,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3.46 ล้านล้านบาท ในปี 2561) ทั้งยังเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก มีมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนระดับ 70,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.31 ล้านล้านบาทต่อปี มีบริษัทซัพพลายเออร์ในเอเชียกว่า 24 ราย ผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญๆ ป้อนให้กับบริษัท

 

นายทาโร่ อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาให้ความเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รวมไปจนถึงการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพรวมจะได้รับแรงกระทบทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจากความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในเรื่องนี้ เนื่องจากมีบริษัทญี่ปุ่นหลายรายที่เป็นซัพ พลายเออร์ให้กับหัวเว่ย และเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตในปัจจุบันก็เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อน จนยากที่จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

ทาโร่ อาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น

 

นอกจากนี้ ในทางอ้อมยังเป็นไปได้ว่า บริษัทอเมริกันที่ต้องทำตามมาตรการของรัฐบาล จะมีความเข้มงวดในการซื้อขายกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียมากยิ่งขึ้นถ้าหากว่าบริษัทนั้นใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจบีบบังคับให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชีย ซึ่งหลายรายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ระดับโลก จำเป็นต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง ว่าจะค้าขายกับสหรัฐฯ หรือกับหัวเว่ย

 

รายงานระบุว่า หัวเว่ย มีซัพพลายเออร์หลักๆ ทั่วโลกจำนวน 92 ราย ในจำนวนนี้ 25 รายเป็นบริษัทของจีนเอง นอกนั้นมี 11 รายเป็นบริษัทญี่ปุ่น 10 รายจากไต้หวัน 2 รายจากฮ่องกง 2 รายจากเกาหลีใต้ และ 1 รายจากสิงคโปร์ นอกนั้นมาจากภูมิภาคอื่นๆ โดย 33 รายเป็นซัพพลายเออร์จากสหรัฐอเมริกา

 

สำหรับซัพพลายเออร์หลักของหัวเว่ยในเอเชียนั้น ได้แก่ โซนี่, มุระตะ แมนูแฟคเจอริ่ง, โตชิบา เมมโมรี และฟูจิตสึ จากญี่ปุ่น ซัมซุง และเอสเค ไฮนิกซ์ จากเกาหลีใต้ นันยา เทคโนโลยี และไต้หวัน คอนดัคเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมปานี จากไต้หวัน และเฟล็กทรอนิกซ์ จากสิงคโปร์

 

“ซัพพลายเออร์ที่พึ่งพารายได้จากหัวเว่ยมากจนเกินไปจะมีความเสี่ยงมาก” แกรี่ อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่อการลงทุน นาทิซิส ให้ความเห็นว่า คำสั่งห้ามการทำธุรกรรมซื้อขายกับหัวเว่ยนั้นเป็นไปตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐฯที่ต้องการเขย่าโครงสร้างห่วงโซ่การผลิตของโลก ผลลัพธ์เบื้องต้นนั้นสะท้อนให้เห็นแล้วจากราคาหุ้นบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ของหัวเว่ย ในเอเชียที่ปรับลดลงถ้วนหน้านับตั้งแต่ที่สหรัฐฯประกาศคำสั่งดังกล่าวออกมา

 

+เตรียมรับมือระยะยาว

ด้านหัวเว่ย ได้ออกแถลง การณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 พ.ค.) ยอมรับว่า การที่บริษัทถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำจะก่อให้เกิดแรงกระแทกต่อความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจในระบบซัพพลายเชนของโลก และไม่มีใครจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากเรื่องนี้ ในส่วนของบริษัทเองจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะลดทอนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ สถิติปี 2561 ชี้ว่า หัวเว่ยพึ่งพาชิ้นส่วนประกอบจากซัพพลายเออร์สหรัฐฯค่อนข้างสูง หรือคิดเป็นสัดส่วน 16% ของยอดการนำเข้าทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบๆปีละ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 3.6 แสนล้านบาท)

เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ หัวเว่ยฯ

กรณีตัวอย่างก่อนหน้านี้ คือการที่สหรัฐฯขึ้นบัญชีดำบริษัท แซดทีอีฯ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมอีกรายของจีนในปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแซดทีอีเนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญทดแทนชิ้นส่วนจากซัพพลายอเมริกัน กระทั่งมีการเจรจารอมชอมและแซดทีอีต้องจ่ายค่าปรับก้อนใหญ่ให้กับสหรัฐฯ ทำให้มีการยกเลิกคำสั่งแบนแซดทีอีในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 แต่ในกรณีของหัวเว่ยจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา เพราะขนาดธุรกิจและอิทธิพลของหัวเว่ยที่มีต่ออุตสาหกรรมไฮเทคของโลกนั้นต่างกันลิบลับ

นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย ออกมายอมรับว่า “การปะทะ” กับสหรัฐฯนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นหมายถึงหัวเว่ยจะสู้ไม่ถอย และในระยะหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้ซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเองภายใต้ชื่อบริษัท ไฮซิลิคอนฯ (HiSilicon) อีกทั้งยังมีระบบปฏิบัติการ (OS) ของตัวเองสำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาที่พร้อมใช้งานในปีนี้ ศึกไฮเทคครั้งนี้จึงเชื่อว่า ไม่น่าจะจบลงได้ง่ายๆ และนั่นก็หมายความว่า ซัพพลายเออร์ทั่วโลกในแวดวงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้องมองหาทางหนีทีไล่ รวมทั้งแผนสำรองสำหรับศึกการค้าระยะยาวเอาไว้ให้ดี 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3473 ระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม 2562

มะกันแบนหัวเว่ยสะเทือนเลื่อนลั่นถึงเอเชีย