ทิ้งทวนเมกะโปรเจ็กต์...เชื่อมสัมพันธ์ไทย-ลาว

26 พ.ค. 2562 | 02:00 น.

สปป.ลาว นับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและผู้รับเหมาไทยมีโอกาสเข้ารับงานโดยเฉพาะส่วนโครงการที่จะทิ้งทวนในรัฐบาลชุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 นายอาคม เติม-พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีคมนาคม ไทย-ลาว ณ จังหวัดหนองคาย โดยมี นายบุญจัน สินทะวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวง ในพื้นที่เข้าร่วมประชุมฯ โดยมีประเด็นการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งผ่านสะพานข้ามแม่นํ้า โขงที่ฝ่ายไทย-สปป.ลาว ให้เร่งดำเนินการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคําไซ) คาดว่าจะเสนอเรื่องขออนุมัติโครงการและขออนุมัติลงนามข้อตกลงให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้านี้ ส่วนโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ได้สำรวจออกแบบแล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนเตรียมจะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป เช่นเดียวกับการซ่อมแซมบูรณะความเสียหายสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) และแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) อยู่ระหว่างรอจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการซ่อมแซมได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยให้คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่ายหารือร่วมกันเกี่ยวกับการตั้งด่านชั่งนํ้าหนัก การเก็บค่าธรรมเนียมรถไฟในอนาคต เพื่อความเท่าเทียมกันในระบบขนส่งฯ

ทิ้งทวนเมกะโปรเจ็กต์...เชื่อมสัมพันธ์ไทย-ลาว

 

 

ทั้งนี้ในส่วนการเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางรถไฟประกอบด้วย 1.โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่าง ไทย-จีน และระหว่าง ลาว-จีน และโครงการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่นํ้าโขงแห่งใหม่ ที่เป็นการเชื่อมต่อโดยสะพาน ได้ลงนามบันทึกตกลงความร่วมมือโดยจีนจะออกแบบสะพานรถไฟข้ามแม่นํ้าโขงให้สอดคล้องกับรูปแบบของสะพานมิตรภาพ โดยให้ไทยพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับการออกแบบก่อนดำเนินการก่อสร้าง 2.การก่อสร้างเส้นทางรถไฟไทย-ลาว ระยะที่ 2 (ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์)ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมรถไฟ สปป.ลาว พิจารณาการจัดเดินขบวนรถไฟสินค้าระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว จัดเตรียมแผนการเดินรถไฟไปยังสถานีเวียงจันทน์ แผนธุรกิจล่วงหน้า และข้อตกลงร่วมกันก่อนที่งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จ เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายรวมถึงการใช้ประโยชน์ย่านกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่านาแล้ง และการเดินรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบการ

ล่าสุดผลลัพธ์ของการประชุมร่วมรัฐมนตรีคมนาคมไทย-สปป.ลาว ในครั้งนี้ยังให้ปรับแผนโครงการการปรับปรุงเส้นทางเลียบแม่นํ้าโขง เส้นทางบ่อแก้ว-ปากทา-ก้อนตื้น อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียดแล้วยังนำเสนอโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการรถไฟระหว่างอุบลราชธานี-ปากเซ พื้นที่เชื่อมต่อบริเวณช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางเฉพาะในประเทศไทย 80 กิโลเมตร รฟท. ได้เสนอของบประมาณปี 2563 เพื่อศึกษาความเป็นไปในอนาคตเพื่อเชื่อมต่อจากปากเซไปยังเมืองเวียงจันทน์ได้อีกด้วย 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3473 ระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม 2562

ทิ้งทวนเมกะโปรเจ็กต์...เชื่อมสัมพันธ์ไทย-ลาว