สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเม.ย.แตะ91.59% ยอดคงค้างเงินรับฝากเพิ่ม 1.39แสนล้านบาท

24 พ.ค. 2562 | 10:00 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1)โดยระบุว่า  สินเชื่อสุทธิยังคงขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่  3อีก 2.67หมื่นล้านบาททำให้ยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิพลิกเป็นบวกเล็กน้อย 0.12%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  โดยสินเชื่อได้รับแรงหนนเพิ่มจากสัญญาณการเบิกใช้สินเชื่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อรายย่อย เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อเช่าซื้อรถบนต์ที่ยังเพิ่มขึ้นตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่มีแรงหนุนจากงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยชะลอลงในเดือนเมษายน หลังจากยอดคงค้างสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงกว่า 5.4หมื่นล้านบาทช่วงไตรมาส4/2561ถึงไตรมาส1/2562ที่ผ่านมาตามการเร่งตัวของกิจกรรมตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนมาตรการกำกับอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV)ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เริ่มมีผลบังคับใช้โดยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม  เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ภาพรวมสินเชื่อสุทธิชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.58%จาก 4.98%ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ด้านเงินฝาก เร่งขึ้นมากกว่าสินเชื่อ ซึ่งมีผลทำให้ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ผ่อนคลาย โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม (Loan to Deposit+Borrowing: L/D+BE) ณ เม.ย. 2562 ปรับตัวลงมาที่ 91.59% ทั้งนี้ ยอดคงค้างเงินรับฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.39แสนล้านบาทโดยเพิ่มทั้งบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน  ออมทรัพย์  และประจำ ทั้งจากบุคคลธรรมดา  นิติบุคคลและภาครัฐซึ่งเงินฝากที่เพิ่มขึ้นมาจากธนาคารหลักไม่กี่แห่ง  ขณะที่การทำตลาดเงินฝากออนไลน์เป็นปัจจัยพิเศษทำให้แต่ละธนาคารมีความเคลื่อนไหวต่อการระดมเงินฝากแตกต่างกัน

สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป  ประเมินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปีนี้ ยังมีโอกาสขยายตัวใกล้เคียงตัวเลขคาดการณ์ที่ 5.0% แต่ต้องติดตามปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวม  กำลังซื้อของภาคครัวเรือนและการปรับตัวของตลาดสินเชื่อรายย่อย ซึ่งมีอิทธิพลต่อแรงส่งการฟื้นตัวของภาพรวมสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง  หลังธปท. ยังส่งสัญญาณว่า อาจต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย (ทั้งดอกเบี้ย มาตรการ Microprudential และ  Macroprudential)เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะรายละเอียดของเกณฑ์ที่เตรียมจะออกมาเพื่อดูแลความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น