ยลบางรัก แล้วจะรักถิ่นโบราณ

29 พ.ค. 2562 | 04:40 น.

“บางรัก” ชื่อมงคลที่วันวาเลนไทน์กี่ปีต่อกี่ปี คู่รักก็ต้องไปต่อแถวจดทะเบียนสมรสกันทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่น่าจะเกี่ยว...หรือจะเกี่ยวก็มิทราบได้เพราะเป็นความเชื่อของบุคคลต้องใช้วิจารณญาณ นั่นว่าไปนั่น...จริงๆ แล้วบางรักผู้เขียนก็เหยียบย่ำมานานแต่ไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสจริงๆ สักครั้ง พอทาง“เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินชมรม “KTC PR Press Club” จัด “รู้จักบางรัก... หลงรักเจริญกรุง” พาสัมผัสเรื่องราววิถีถิ่นเจริญกรุง-บางรัก สำรวจถิ่นแขก สาแหรกจีน ที่ผสานความเชื่อความศรัทธาของชาวจีน พุทธ คริสต์ มุสลิม ที่อยู่ในย่านเดียวกันอย่างสงบสุขมานานแสนนานเลยต้องรีบไปในทันที  รู้ไหมว่าถนนเส้นนี้เป็นหนึ่งในถนนสายแรกแห่งสยามประเทศทีเดียว โดยมี “อาจารย์ธานัท ภุมรัช“นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร มาเป็นวิทยากรให้ตลอดทริป

ยลบางรัก แล้วจะรักถิ่นโบราณ

เริ่มต้นกันที่ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว ติดสะพานตากสิน ศาลเจ้าไหหลำที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อระลึกถึงโศกนาฏกรรมนักเดินทางชาวจีน 108 คนผู้ล่องเรือสำเภาจะมาค้าขายที่บางรัก แต่โดนฆาตกรรมที่เวียดนามเสียก่อนเพราะเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าพวกเขาเป็นโจรสลัด ศาลแห่งนี้จะได้สักการะเทพเจ้า 108 พี่น้อง เจ้าแม่ทับทิม ไฉ่ซิงเอี๊ยะ บู๊นท๋ากง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจีน พ่อค้าแม่ขายในละแวกนี้ขอให้ขายได้แบบเฮงๆ นักเดินทางมาขอพรให้เดินทางปลอดภัย ศาลเจ้าแห่งนี้จะได้เห็นถึงศิลปะของจีนไหหลำแม้จะดูเรียบๆแต่มีเอกลักษณ์ สวยงาม ดูแล้วขลัง

ยลบางรัก แล้วจะรักถิ่นโบราณ

มาต่อกันที่วัดสวนพลู ชมอุโบสถงานปูนปั้นประดับกระจกสวยงามแปลกตา พระประธานโบราณสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นวัดที่ประชาชนและตระกูลตั้งตรงจิตรร่วมกันบูรณะวัด เดิมทีวัดสวนพลูนี้ชื่อว่า วัดคลองล้อม ตั้งตามสภาพแวดล้อมในอดีต ที่มีคลองน้ำใหญ่ล้อมรอบวัด และคำว่า “สวนพลู” นั้นมาจากพื้นที่รอบๆ วัด ในอดีตชาวจีนปลูกพลูกันเป็นอาชีพ จึงกลายเป็น “วัดสวนพลู” มาจนถึงปัจจุบัน ด้านหลังมีศาลาทรงไทยตั้งอยู่กลางสระน้ำ เรียกว่า “ศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม” ซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 

อีกด้านหนึ่งของอุโบสถมีวิหารอีก1 หลังตั้งอยู่อย่างสงบใต้ต้นไม้ นั่นก็คือ “วิหารพระพุทธไสยาสน์” มีพระพุทธไสยาสน์ซึ่งได้รับการบูรณะแล้วเป็นสีทองสุกอร่ามอยู่ด้านในสุด ซึ่งเล่ากันสืบต่อมาด้วยความเคารพศรัทธาว่า ท่านได้ก่อปาฏิหาริย์โดยการช่วยชาวบ้านที่ไปหลบภัยบริเวณรอบองค์ท่าน  ให้พ้นจากลูกระเบิดที่ทิ้งมาจากเครื่องบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินชมในวัดและต้องยลเสน่ห์กุฏิของพระสงฆ์ที่มีความโดดเด่นด้วยลวดลายไม้ฉลุเรียกว่า “หมู่กุฏิขนมปังขิง” จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นมรดกสถาปัตยกรรม     ในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยามฯเมื่อปี 2545

ยลบางรัก แล้วจะรักถิ่นโบราณ

จากนั้นเราได้มาชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางรักที่เกิดขึ้นได้ เพราะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอาจารย์วราพร สุรวดี เจ้าของผืนดิน ผู้บริจาคทรัพย์สินทั้งหมดให้กรุงเทพมหานคร และอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้จวบกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ด้วยวัย 82 ปี โดยท่านได้มอบบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้รับมรดกจากนางสอาง สุรวดี (ตันบุณเต็ก) ผู้เป็นคุณแม่ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้ศึกษาเรื่องราวชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลาง ในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี 2480-2500) โดยของที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของที่เคยใช้งานจริงของอาจารย์และครอบครัว

ยลบางรัก แล้วจะรักถิ่นโบราณ

 

ภายในแบ่งเป็น 4 อาคาร โดยหลังที่ 1 สร้างแบบโบราณใช้สลักแทนตะปู ประกอบด้วย  1.ห้องรับแขก จัดแสดงเปียโนคู่ใจจากคุณแม่ของอาจารย์วราพร ชุดรับแขก ตู้ใส่เครื่องแก้วเจียระไนแบบต่างๆ เช่น แก้วไวน์ แก้วมาตินี่ ขวดใส่ไวน์  2.ห้องอาหาร ภายในจัดแสดงโต๊ะรับประทานอาหาร 6-8 ที่นั่ง ที่สามารถยืดขยายให้ยาวได้ โดยแทรกแผ่นกลางที่มีสลักยึดติดด้วยกันแน่นหนา บนโต๊ะจัดแสดงพวงเครื่องปรุง จานใส่ของว่าง มีตู้จัดแสดงชุด Dinner set แบบฝรั่ง และภาชนะลายครามแบบจีน เป็นต้น 3.ห้องหนังสือ หรือ ห้องเขียนหนังสือ ส่วนหนึ่งจะเป็นหนังสือของคุณหมอฟรานซิส ชาวอินเดีย สามีคุณสอาง สุรวดี เป็นตำราทางการแพทย์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ หนังสือเรียน และหนังสืออ่านเล่น ติดกับห้องนี้ คือ ห้องน้ำและโถส้วมแบบโบราณ 4.โถงชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดใหญ่ของคุณหมอฟรานซิส รวมทั้งตู้มุกจากเมืองจีน ซึ่งเป็นลายคู่กันซ้ายขวา เป็นต้น 5.ห้องนอนคุณยายอิน จัดแสดงเตียงไม้โบราณแบบฝรั่งมีเสามุ้ง โต๊ะเครื่องแป้งพร้อมตลับเครื่องแก้วสำหรับใส่เครื่องสำอาง และขวดน้ำหอมแบบต่างๆ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 6 นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปบูชา สมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์  6.ห้องแต่งตัวแบบยุโรป จัดแสดงห้องแต่งตัวที่จัดแต่งแบบยุโรป มีโต๊ะเครื่องแป้ง มีกระจกประดับทั้ง 3 ด้านเป็นแบบศิลปะเดโด  อ่างล้างหน้า เครื่องใช้ของผู้ชายที่ใช้ในการโกนหนวด  และหุ่นพลาสเตอร์รูปคุณหมอฟรานซิส   และ 7.ห้องนอนใหญ่ เป็นห้องนอนของพี่สาวอาจารย์วราพร จัดแสดงตู้เสื้อผ้าบานใหญ่ เข้าชุดกับโต๊ะแต่งตัว และเตียงขนาดใหญ่

ยลบางรัก แล้วจะรักถิ่นโบราณ

อาคารหลังที่ 2 เป็นอาคารไม้  2 ชั้น สร้างจำลองขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับหลังเดิม โดยรื้อบ้านที่ทุ่งมหาเมฆ มาจัดสร้าง โดยย่อส่วนลงตามพื้นที่ที่มีจำกัด ตกแต่งบ้านด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน  รวมถึงเครื่องมือแพทย์ที่คุณหมอใช้รักษาจริง อาคารหลังที่ 3 ชั้นล่างจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน อาทิ ชุดตักบาตร เครื่องครัว เครื่องเขียน เครื่องมือช่าง เป็นต้น ชั้นบน จัดแสดงนิทรรศการภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ลักษณะทางกายภาพ การดำเนินชีวิตของชาวกรุงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของชื่อบางกอก และเขตบางรัก อาคารหลังที่ 4 ตรงข้ามกับศาลาริมน้ำ ดัดแปลงเป็นสำนักงานห้องสมุด เมื่อได้เข้าไปชมอย่างละเอียดแล้วจะเห็นว่าข้าวของเครื่องใช้ของคนโบราณนั้นน่าศึกษาและน่าสนใจอย่างยิ่ง วันนั้นเราชวนกันไปถ่ายรูปกันเพลินทีเดียว

ต่อมาก็มาเรียนรู้ประวัติด่านศุลกากรที่ถือเป็นประตูสุดแดนพระนครใต้ที่ศุลกสถาน สถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งให้สร้างขึ้น ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางรัก  เพื่อเรียกเก็บภาษีจากพ่อค้าวาณิชที่เดินทางเข้าออกประเทศ เพราะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สยามเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดไปเป็นการค้าเสรี โดยเมื่อเรือสินค้าเข้ามาจากปากแม่น้ำก็ต้องผ่านจุดตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม” แม้ปัจจุบันเป็นอาคารที่รกร้างรอการพัฒนาแต่ยังคงความสวยงามได้อย่างน่าสนใจ เดินเข้ามาจากริมแม่น้ำก็จะพบมัสยิดฮารูณ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางชุมชนเป็นมัสยิดเล็กๆ ทำด้วยไม้สักแต่มีอายุกว่า 100 ปี สร้างขึ้นโดย โต๊ะฮารูณ บาฟาเดน ชาวเมืองปนเจอะนะ ประเทศอินโดนีเซีย ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ณ บริเวณ หมู่บ้านต้นสำโรง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอำเภอบางรักตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 3 ประมาณปี 2371 และได้สร้างมัสยิดขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมในหมู่บ้าน เป็นเรือนไม้สักยกพื้นชั้นเดียว ในเวลาต่อมา มัสยิดเรือนไม้ชำรุดทรุดโทรมลง จึงได้รื้อมัสยิดหลังเดิมออก และก่อสร้างใหม่เป็นแบบก่ออิฐถือปูนดังที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนที่เป็นไม้ของเดิมก็นำมาประกอบ เช่น ใช้ทำเป็นไม้พื้นและเป็นเสากลม เมื่อปี 2490 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.มัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ให้บรรดามัสยิดต่างๆ จดทะเบียนตามกฎหมาย จึงนำมัสยิดไปจดทะเบียนในนาม มัสยิดม่วงแค และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น มัสยิดฮารูณ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชู โต๊ะฮารูณ บาฟาเดน ผู้ก่อตั้งมัสยิดแห่งนี้ 

ยลบางรัก แล้วจะรักถิ่นโบราณ

ยลบางรัก แล้วจะรักถิ่นโบราณ

  ภายในอาคารบริเวณชั้น 2 ตกแต่งอย่างเรียบง่าย  ส่วนด้านบนรอบโถงมีลายอักษรอาหรับ เป็นบทแรกในพระคัมภีร์อัลกุรอาน เหนือมิมบัรประดับด้วยโคมไฟที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และบริเวณด้านหน้าของมัสยิดมีกุโบร (สุสาน) ซึ่งเป็นที่ฝังศพของบุคคลสำคัญ เช่น ท่่านจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ รวมทั้งนายทหารจากสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ทำให้มัสยิดฮารูณ มีทั้งชาวต่างชาติรวมถึงประเทศในกลุ่มอาหรับ ได้มาร่วมปฏิบัติศาสนกิจอยู่เสมอ รวมถึงยังได้ต้อนรับบุคคลสำคัญจากต่างประเทศอีกมากมาย

พอได้เข้ามาสัมผัสเรื่องราววิถีถิ่นเจริญกรุง-บางรัก แม้ว่าจะยังไม่ได้ไปถึงวิหารของชาวคริสต์ก็ตาม ก็ยังรู้สึกได้ว่ามิติทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ที่รุ่งโรจน์ ชนชาติต่างๆและรวมถึงศาสนาที่แตกต่างกันได้เข้ามาร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจสยามรุดหน้า สังคมเจริญรุ่งเรือง เกิดแหล่งศาสนสถานที่สวยงามจนสามารถผสานความเชื่อความศรัทธาจีน พุทธ  คริสต์ มุสลิม อยู่ร่วมกันได้ นำความสมานสามัคคีอันเป็นเสน่ห์ของบางรัก  แม้ว่าประวัติศาสตร์บางส่วนสร้างความเจ็บปวดให้ชาวไทยอย่างเหลือแสน จนเหลือร่องรอยเป็นประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้ชม ได้ชื่นชมและได้ศึกษาความเจ็บปวดเหล่านั้นเช่นการสูญเสียดินแดน...เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก!!

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,473 วันที่ 26 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562