พาณิชย์เชิญ20อุตฯถก รับมือ"เทรดวอร์"ยื้อ

24 พ.ค. 2562 | 05:57 น.

พาณิชย์ไม่หวั่นสงครามการค้ารอบใหม่ ผนึกกำลังเอกชนเร่งปรับกลยุทธ์เจาะรายกลุ่มอุตสาหกรรม  เตรียมเชิญ 20 กลุ่มสินค้า หารือ 29 พ.ค.นี้ พร้อมเสนอแนวทางรับมือเทรดวอร์ ต่อกนศ. 11 มิ.ย. นี้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.)  กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ทั้งจีนและสหรัฐฯต่างปรับขึ้นภาษีการค้าระหว่างกัน โดยสหรัฐฯ เดินหน้ากดดันจีนเต็มรูปแบบทั้งประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนกลุ่ม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จำนวน 5,745 รายการ) เป็น 25% ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 และขู่ขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้เปิดเผยร่างรายการสินค้าประมาณ 3,800 รายการซึ่งจะจัดกระบวนการรับฟังความเห็นในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่จีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 5,140 รายการ มีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2562 

ทั้งนี้การขึ้นภาษีสินค้าจีนของสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการตอบโต้ของจีน ในกลุ่มสินค้า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น เป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 แต่ครั้งนี้สหรัฐฯ ปรับอัตราภาษีจาก 10%  เป็น 25 % และจีนปรับอัตราภาษีเป็น 5 – 25% และตัดสินค้าจำนวน 67 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์รถยนต์ เช่น เบรค ล้อรถ คลัช เพลา/แกนรถ ถุงลมนิรภัย

 จากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสินค้ากลุ่มนี้มีนัยยะสำคัญและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน)หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย อย่างไรก็ตาม สนค.ประเมินว่า มาตรการระหว่างสหรัฐฯ-จีนล่าสุดในสินค้ากลุ่มนี้จะไม่ส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นมากนักจากเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว และผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัว โดยเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตัวเลขการส่งออกเดือน เมษายน 2562 มีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ลดลง โดยคาดว่าผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับกลยุทธ์ในซัพพลายเชน โดยมาผลิตสินค้าในประเทศที่สาม มากขึ้น เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเมื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่ขึ้นภาษี 2 แสนล้านของสหรัฐฯ และ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในฝั่งจีน พบว่าไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้าเพื่อชดเชยผลกระทบจากการเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน โดยสินค้ากลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ ผักและผลไม้สดและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ยาง

สำหรับสินค้าล็อตใหม่ที่สหรัฐฯ เตรียมขึ้นภาษีจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น  เป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน โดยส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าอุปโภค และบริโภค เช่น อาหาร อุปกรณ์/เครื่องใช้ภายในบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ ซึ่งหากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีจริง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และประเมินว่าในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจีนจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับมาตรการที่ผ่านมา และไทยมีโอกาสที่จะส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐฯ กว่า 725 รายการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 – 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นสินค้าที่ไทยมีด้วยส่วนแบ่งตลาดและความสามารถทางการแข่งขันในรายสินค้า (RCA) สูง ประกอบกับภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค อาทิ อาหารและเครื่องปรุงอาหาร (เครื่องเทศ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว พีนัท ถั่ว Pignolia น้ำตาลอ้อย) น้ำผลไม้ ขิง ชาเขียว เสื้อผ้าและผ้าผืน รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องประดับ (ไข่มุกและนาฬิกา) และของใช้ในบ้าน (เครื่องเซรามิค เครื่องแก้ว)

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างใกล้ชิดในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ฯ อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องจักรไฟฟ้าฯ ทองแดง และเคมีภัณฑ์ เพื่อป้องกันการสินค้าไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค ซึ่งยังไม่พบการนำเข้าที่ผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา

ขณะนี้การค้าไม่แน่นอนและมีความท้าทายสูง  ปัจจัยสำคัญของการการกระตุ้นส่งออก คือ การช่วงชิงโอกาส (Speed) และกลยุทธ์ (Strategy) ให้ตอบโจทย์อย่างตรงจุด เพื่อเร่งผลักดันการขายตามความต้องการของตลาด โดยในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมกับตัวแทนอุตสาหกรรมกว่า 20 สมาคม/กลุ่ม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ และการปรับกลยุทธ์ผลักดันการส่งออกสินค้าศักยภาพข้างต้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้จะนำผลหารือนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)
ในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 เพื่อกำหนดแนวทางการรับมือในเรื่องสงครามการค้า และกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การค้าระยะยาวที่จะต้องพิจารณาระบบการค้าและการลงทุน (Trade & Investment Ecosystem) ทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของการค้าโดยเน้นผลักดันและกระตุ้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต่อไป”