โยธาฯหนุนตึกสูง ลดปัญหาเดินทาง

27 พ.ค. 2562 | 00:00 น.

กรมโยธาฯ เร่งผังภาคมหานครแบบไร้รอยต่อ หนุนจัดรูปที่ดินรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์หารายได้สร้างส่วนขยายในอนาคต

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ผังภาคมหานครไร้รอยต่อ มิติใหม่การพัฒนาพื้นที่สู่ความยั่งยืน” ว่ามีเป้าหมาย เพื่อระดมความคิดจากผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างยั่งยืน และสามารถขับเคลื่อนแผนพัฒนาไปสู่ทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โยธาฯหนุนตึกสูง ลดปัญหาเดินทาง

มณฑล สุดประเสริฐ

โดยภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือภาคมหานคร ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร มีการขยายตัวจนเกือบเต็มพื้นที่ที่ผังเมืองรวมกำหนดให้เป็นพื้นที่เมืองและแผ่ขยายต่อเนื่องไปยังรอยต่อจังหวัดปริมณฑลโดยรอบ

นอกจากนี้ในอนาคตภาคมหานครยังมีประเด็นท้าทายที่ต้องเผชิญ ดังเช่น มหานครต่างๆทั่วโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่เหมาะสม แต่ด้วยความได้เปรียบของทำเลที่ตั้ง ภาคมหานครเป็นศูนย์กลางแกนการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก กับประเทศอาเซียน อินเดียและจีน และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ของประเทศ คือ EEC ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักและการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ

ปัจจุบันภาคมหานครทำมูลค่าการค้าทางเศรษฐกิจให้ประเทศสูงสุดถึง 50% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศมีฐานเศรษฐกิจที่หลากหลายทั้งด้านเกษตรกรรม (นครปฐมและสมุทรสาคร) อุตสาหกรรม(สมุทรปราการและปทุมธานี) การค้าการบริการการศึกษา (กรุงเทพมหานครและนนทบุรี) และการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก

กรม เห็นความสำคัญของการพัฒนาการแก้ไขปัญหาของภาคมหานคร จึงดำเนินโครงการวางผังภาคกรุงเทพมหา นครและปริมณฑล 2580 เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องไร้รอยต่อ

“ผังนี้ไม่ใช่ผังบังคับตามกฎหมาย เป็นผังนโยบายที่จะต้องส่งต่อให้กับกทม.เพื่อประกอบการพิจารณาใช้ข้อมูลต่อไป ทั้งนี้เมื่อดำเนินการวางผังภาคกรุงเทพ มหานครและปริมณฑลแล้วเสร็จ กรมจะนำผังภาคเข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หน่วยงานรัฐไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่จัดทำผังเมืองรวม จะนำผังภาคนี้ไปเป็นกรอบในการวางและจัดทำผังเมืองรวมต่อไป”

อธิบดีกรมโยธาธิการฯกล่าวอีกว่า ภาพรวมของการวางผังภาคมหานครนั้น เมื่อนำแต่ละผังมาเชื่อมต่อกันจะพบว่ามีความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น เขตรอยต่อพื้นที่พงษ์เพชรกับเขตพื้นที่รอยต่อจังหวัดนนทบุรี หรือเขตดอนเมือง-รังสิต ก็จะเชื่อมเป็นผืนเดียวกันมากขึ้นจึงมอบหมายให้ไปดำเนินการจัดทำผังนโยบายในการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในการวางผังเมืองตลอดจนเขตปริมณฑลให้สอดคล้องกัน

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) พบว่าในปี 2580 ไทยมีประชากรเพิ่มประมาณ 66 ล้านคนจากปัจจุบันราว 64.6 ล้านคน ประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้นกว่า 22 ล้านคนหรือราว 36% ของประชากรทั้งหมด โดยพื้นที่กทม.ราว 1,550 ตร.กม. ถนนในกทม. รวมประมาณ 1,200 กม.จึงค่อนข้างหนาแน่น

โดยเมื่อจุดไหนพื้นที่เต็มก็ควรจะส่งเสริมให้มีการก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเพื่อให้คนอยู่อาศัยเพื่อลดภาระการเดินทางของประชาชน ให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาในรัศมี 500-800 เมตรใกล้สถานีรถไฟฟ้าหรือทางเรือกันมากขึ้น ตลอดจนเขตปริมณฑลรอบกทม.ไปพัฒนาเมืองให้เกิดขึ้น จัดให้มีระบบคมนาคมที่สะดวกเข้าถึงบริการได้

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมากรมมีความพยายามผลักดันพื้นที่การพัฒนาเมืองใหม่จำนวน 2 ครั้ง คือที่นครนายกและท่าตะเกียบ แต่ก็ติดปัญหาข้อกฎหมาย โดยมีการเสนอออกพ.ร.บ.เมืองใหม่เกิดขึ้น และติดปมปัญหากรณีการเวนคืนเพื่อนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นหากเทียบกับพื้นที่กทม. หากไปเริ่มในพื้นที่ใหม่น่าจะทำได้มากกว่า

“ปัจจุบันเรื่องการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายในประเทศไทย แต่ในอนาคตคงจะมีมากขึ้น”

 

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,473 วันที่ 26-29 พฤษภาคม 2562 

                            โยธาฯหนุนตึกสูง ลดปัญหาเดินทาง