Digital Transformation ยุค 5G  จุดเปลี่ยนสำคัญ Smart Living ที่ท้าทายภาครัฐ

25 พ.ค. 2562 | 05:05 น.

จากงาน Digital Transformation Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ “Surfing the Waves in Digital Transformation Era” ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ยักษ์ใหญ่ดิจิทัล ได้ร่วมพูดคุยถึงการเดินทางของโลก ที่เข้าสู่ยุคหลัง Digital Transformation โดยที่ผ่านมา องค์กรชั้นนำ และ Tech Company ได้ทำการ Digital Transformation รอบแรกเสร็จสิ้นไปแล้ว

    หัวเว่ย คือหนึ่งในองค์กรที่จัดเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เผยให้เห็นถึงเส้นทางการนำพาองค์กรไปสู่ Digital Transformation ในฐานะ Digital Provider รายใหญ่ของโลก หัวเว่ยวางตำแหน่งตัวเองเป็น Digital Provider เดินหน้าสู่ธุรกิจ Smart Living ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม  Digital Transformation ยุค 5G   จุดเปลี่ยนสำคัญ Smart Living ที่ท้าทายภาครัฐ

“กิติพงษ์ ธาราศิริสกุล” Chief Technology Officer, Huawei Technologies กล่าวว่า หลังเล็งเห็นบทบาทของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิม เพราะผู้บริโภคมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมหาศาล เมื่อข้อมูลเพิ่มความคาดหวังก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตหลายรายเริ่มปรับบริการแบบเฉพาะบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประมวลผลเร็วขึ้น และเริ่มเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หัวเว่ยจึงทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อปี 2014 ด้วยการทำ Digital Transformation 3 ด้าน ได้แก่ กำหนดยุทธศาสตร์ กระบวนการทำงาน และการกำหนดเทคโนโลยี 

ด้านกำหนดยุทธศาสตร์ มีการปรับปรุงความพอใจของลูกค้า ปรับทัศนคติเพื่อสร้างพลังให้กับพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเชื่อมโยงการทำงานทุกอย่างทุกแผนกไว้บนคลาวด์

กระบวนการทำงาน ได้สร้างทิศทางการทำงาน ที่เรียกว่า “ROADS” มาเป็น Core Value หลักในการรวบรวมพลังพนักงานมากกว่า 1 แสนคน ในการนำพาองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ Real time ทำงานแบบเรียลไทม์, On Demand ด้วยการดึงข้อมูลมาใช้, All online กำหนดให้ทุกคนต้องออนไลน์ , Do it yourself สร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และ Social  เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์

กำหนดเทคโนโลยี รู้เป้าหมายว่าใช้เทคโนโลยีเพื่ออะไร เช่น AI เข้ามาทดแทนการทำงานแบบใช้แรงงาน, Blockchain เพิ่มความแม่นยำในการทำงานอย่างถูกต้องโปร่งใส และ Cloud ช่วยบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

หัวเว่ยใช้ประโยชน์จาก Digital Transformation ในการทำ 5 โปรเจ็กต์ ได้แก่ 1. R&D แก้ปัญหาการทำงานแบบไซโลด้วยการทำงานแบบ Agile 2. รวมศูนย์ข้อมูลของโรงงานผลิตที่กระจายอยู่ทั่วโลก เพื่อให้เห็นภาพการทำงานและแก้ปัญหาได้แบบเรียลไทม์ 3. แผนกโลจิสติกส์ ใช้อุปกรณ์ IoT ในทุกซัพพลายเชน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้า 4.Connected Huawei พัฒนาแอพพลิเคชัน We Link ภายในบริษัท ให้พนักงานประชุมผ่านแอพ ใช้จ่ายผ่านแอพ และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้วย e-Learning และ 5.Smart Campus ออกแบบแพลตฟอร์มข้อมูลวิเคราะห์อัตราการใช้พลังงานภายในสถานที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งในโปรเจ็กต์หลังนี้ นับเป็นการจำลองแบบ Smart Living ที่หัวเว่ยมีการนำเทคโนโลยีหลายอย่างมาใช้ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ Digital Transformation ยุค 5G   จุดเปลี่ยนสำคัญ Smart Living ที่ท้าทายภาครัฐ

Smart Living จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหลากหลายมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT และ Cloud ขณะที่ปัจจุบันโลกยังอยู่ในยุค 4G เป็นช่วงที่เน้นให้คนทำหน้าที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุค 5G เต็มตัว เมื่อนั้นจะเป็น Game Changer ให้กับ Smart Living ทันที เพราะเทคโนโลยี 5G จะส่งข้อมูลได้เร็วกว่า มากกว่า และหนาแน่นกว่า 4G หลายร้อยเท่า จึงมีบทบาททำให้เทคโนโลยีต่างๆ เกิดการเชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารกันเองได้อย่างเป็นอิสระ

“โรเบิร์ต เจซซิ่ง” Senior Principal, Accenture Strategy ได้แสดงความคิดเห็นว่า การที่ Smart Living ต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายอย่างในการขับเคลื่อน เรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องกำกับดูแลให้ดี เพราะจะมีการใช้ข้อมูลแบบเปิดจำนวนมาก ในขณะที่ปัจจุบันมีเพียงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ General Data Protection Regulation (GDPR) ของสหภาพยุโรปที่่ใช้ในการกำกับดูแล 

การพัฒนาและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ยังเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ขึ้นอยู่กับจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในแต่ละธุรกิจ และนี่คือความท้าทายของภาครัฐ ที่ต้องหาวิธีในการกำกับดูแล 

หน้า 22 ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

Digital Transformation ยุค 5G   จุดเปลี่ยนสำคัญ Smart Living ที่ท้าทายภาครัฐ