งัดกฎเหล็กคุมก่อหนี้ แบงก์ชาติดีเดย์มิ.ย.เคาะเกณฑ์ปล่อยกู้

24 พ.ค. 2562 | 05:50 น.

ธปท.ดีเดย์มิ.ย.ออกกฎคุมหนี้ครัวเรือน ขีดเส้นสัด ส่วนหนี้ต่อรายคุมปล่อยกู้ “ธนชาต” ซอยลูกค้าแบ่งกลุ่ม 15 เกรดอิงพฤติกรรมชำระหนี้-เครดิต “กสิกรไทย” มั่นใจไม่กระทบเชื่อสร้างวินัยการเงิน

หนี้ครัวเรือนไทยที่เริ่มมีอัตราการขยายตัวเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนอีกครั้ง ในปี 2561 และส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งล้วนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการควบคุมการก่อหนี้ครัวเรือนด้วยการกำหนดให้สถาบันการเงินคำนวณภาระหนี้ต่อรายได้ในการปล่อยกู้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีการกำหนดนิยามของหนี้และ รายได้ต่างๆ ให้ชัดเจน ว่ารายได้ประจำ รายได้ค่าล่วงเวลา(โอที) รายได้จากคนคํ้าประกันจะนับเป็นรายได้ของผู้กู้ที่นำมาใช้ในการคำนวณสินเชื่อหรือไม่ เป็นต้น

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพทางการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ภายในเดือนมิถุนายน ธปท.จะกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่เป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้ธนาคารใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ หลังจากก่อนหน้านี้ธปท.ได้รวบรวมข้อมูลและประเมินจากการเข้าไปตรวจสอบแต่ละธนาคารพบว่าการกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ที่เป็นมาตรฐานกลางในการพิจารณาสินเชื่อรถยนต์ของแต่ละธนาคาร ยังมีีความเปราะบางในการปล่อยสินเชื่อ เช่น การกำหนดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ไว้สูง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีปัญหา เพราะเมื่อหักภาระชำระหนี้เหลือสุทธิค่าใช้จ่ายในการครองชีพอาจไม่เพียงพอ 

 

หวังสร้างมาตรฐานปล่อยกู้

ธปท.จึงอยากให้แน่ใจว่าการปล่อยสินเชื่อจะเป็นการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจึงต้องเข้าไปกำหนดมาตรฐานสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ ให้มีบรรทัดฐานที่เหมือนกันเพื่อตอบโจทย์ดูแลหนี้ครัวเรือนและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่ยอมรับว่าสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวในการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารอาจจะใช้ปัจจัยอื่นพิจารณาด้วย  

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย (TBA) และตัวแทนสมาชิกธนาคารได้เข้าร่วมประชุมหารือเรื่อง อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage Ratio) DSCR  เพื่อหาวิธีคำนวณรายได้และภาระหนี้ให้มีวิธีการคำนวณออกมาให้ชัดเจน  เช่น ในฝั่งรายได้ คำนวณค่าคอมมิสชันที่ลูกค้าได้รับ ธนาคารบางแห่งจะคำนวณว่ามีค่าคอมมิสชันแค่ 3 เดือน ก็สามารถนำเข้านับรวมกับรายได้ประจำ บางแห่งอาจจะคำนวณว่าจะต้องมีค่า
คอมมิสชัน 6 เดือนขึ้นไป หรือในส่วนของภาระหนี้ เช่น ลูกค้ามีภาระชำระค่างวดรถเหลือ 2 งวด ธนาคารบางแห่งคำนวณว่าลูกค้ายังมีภาระหนี้อยู่ แต่บางครั้งเห็นว่า 2 งวดใกล้หมด จึงไม่ได้นับเป็นภาระหนี้ ทำให้วิธีการคำนวณ DSCR แตกต่างกันส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารแตกต่างกันตามไปด้วย ธปท.จึงต้องการให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน งัดกฎเหล็กคุมก่อหนี้  แบงก์ชาติดีเดย์มิ.ย.เคาะเกณฑ์ปล่อยกู้

 

 

ธนชาต หนุนแบงก์ชาติ

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารธนชาตมีเกณฑ์พิจารณา DSCR ในการอนุมัติสินเชื่อเป็นปกติอยู่แล้ว โดยดูรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า และตามประเภทสินเชื่อ ซึ่งธนชาตแบ่งกลุ่มลูกค้าประมาณ 15 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะวิเคราะห์ตามพฤติกรรมทั้งการใช้จ่าย การทำธุรกรรม และพฤติกรรมทางด้านเครดิต เพื่อนำมาคัดกรองให้คะแนนประกอบการพิจารณาทั้งในส่วนสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่นเดียวกับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จะมีระบบคัดกรองที่เรียกว่า Master Scale เป็นต้น

“หากธปท.จะออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลเรื่อง DSCR ธนาคารเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรือต้องปรับอะไร เพราะเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบ และส่งผลให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินมากขึ้น จะช่วยลดหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง”

 

CIMBแนะธปท.รอบคอบ

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารมีหลักเกณฑ์การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่เข้มข้นในระดับหนึ่ง โดยธนาคารมีหน้าที่ดูรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งโดยเฉลี่ยสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ที่ให้กับลูกค้าจะอยู่ที่ 40-70% และเพดานสูงสุดอยู่ที่ 80% ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ และลูกค้ามีหนี้ประเภทไหนบ้าง มีอาชีพที่มั่นคงระดับไหน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการพิจารณาสัดส่วน DSR จะเป็นส่วนสำคัญ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นในการพิจารณาสินเชื่อ เนื่องจากลูกค้าบางกลุ่มมีรายได้ขึ้นลงตามฤดูกาล หรือตามภาวะเศรษฐกิจ หรือบางรายแจ้งรายได้ไม่หมด การพิจาณาสินเชื่อตามสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้จึงไม่ได้สะท้อนทั้งหมด หากธปท.จะออกมาคุมหรือออกมาเป็นมาตรฐานก็ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับภาวะและการแข่งขันของตลาดด้วย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

“ที่ผ่านมายอมรับว่าหลักเกณฑ์ที่ธปท.ออกมา เช่น การคุมสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ด้วยการกำกับวงเงินและกำกับสถาบันการเงินมีโอกาสกระทบตลาด แต่ทำให้ธุรกิจมีความรัดกุมมากขึ้น และถือว่าค่อนข้างได้ผล จะเห็นว่าแม้หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพหนี้สินเชื่อรายย่อยปรับดีขึ้น สะท้อนว่ามาตรการธปท.ควบคุมได้ดี ลูกค้ามีระเบียบวินัยมากขึ้น”

 

กสิกรไทยคุมหนี้ต่อรายได้ 50%

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากดูสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของธนาคารกสิกรไทย จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ในระดับ 50% ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อและความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก กรณีที่ธปท.ต้องการคุมภาระหนี้ต่อรายได้มาจากสัญญาณหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่าในปีนี้สินเชื่อทั้ง 2 ประเภทยังคงขยายตัวต่อ แม้ว่าธปท.จะออกมาตรการเพื่อควบคุมภาระหนี้ของครัวเรือนไม่ให้เพิ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

งัดกฎเหล็กคุมก่อหนี้  แบงก์ชาติดีเดย์มิ.ย.เคาะเกณฑ์ปล่อยกู้