ทุเรียนทะลัก! ชาวสวนใต้แห่ปลูกเพิ่ม

22 พ.ค. 2562 | 05:20 น.

ชาวสวนใต้พลิกวิกฤตราคายางตกต่ำหันมาแห่ปลูกทุเรียนเพิ่ม เล็งตลาดจีนยังต้องการสูง สศก.เผยปีนี้ผลผลิตเพิ่ม 46% ทุบสถิติใหม่ "ชุมพร"สูงสุด รองลงมา "นครศรีธรรมราช" เร่งประเมินผลกระทบรอบด้านพร้อมให้ความรู้เกษตรกรอย่าตัดทุเรียนอ่อน หวั่นกระทบส่งออก 

ทุเรียนทะลัก! ชาวสวนใต้แห่ปลูกเพิ่ม

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ทุเรียนภาคใต้ปี 2562 ทั้ง 14 จังหวัด (กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี) ซึ่งคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ได้เห็นชอบผลพยากรณ์ในปี 2562 ครั้งที่ 3 (ข้อมูล ณ 8 พฤษภาคม 2562) พบว่า เนื้อที่ยืนต้นของทุเรียนภาคใต้ ปี 2562 มีจำนวน501,845 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 35,290 ไร่ หรือร้อยละ 8 เนื้อที่ให้ผล มีจำนวน 387,822 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 28,515 ไร่ หรือร้อยละ 8 ปริมาณผลผลิตรวม 445,220 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 140,953 ตัน หรือร้อยละ 46 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล อยู่ที่ 1,148 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 301 กิโลกรัม หรือร้อยละ 36

ทุเรียนทะลัก! ชาวสวนใต้แห่ปลูกเพิ่ม

เนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาของทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรจึงปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นโดยปลูกแทนพืชอื่น เช่น ยางพารา เงาะ ลองกอง ซึ่งเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากทุเรียนที่ปลูกในปี 2557 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ส่งผลปริมาณผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคา ในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการดูแลรักษาต้นทุเรียน กอปรกับปีที่ผ่านมาต้นทุเรียนไม่ติดผลหรือให้ผลผลิตน้อย จึงมีเวลาในการพักต้นสะสมอาหารต้นสมบูรณ์ขึ้น

ทุเรียนทะลัก! ชาวสวนใต้แห่ปลูกเพิ่ม

สำหรับผลผลิตทุเรียนของทางภาคใต้จะออกมาที่สุดที่จังหวัดชุมพร รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช โดยผลผลิตในฤดูของทางภาคใต้เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน และจะออกมากในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนสิงหาคม 2562 (ร้อยละ 34 ของผลผลิตภาคใต้ทั้งหมด) ซึ่งราคาเฉลี่ยทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.29 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 19

ทุเรียนทะลัก! ชาวสวนใต้แห่ปลูกเพิ่ม

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาทุเรียนค่อนข้างสูง เนื่องจากยังมีความต้องการนำเข้าไปที่ประเทศจีนจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนให้การเอาใจใส่ดูแลมากขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและมีคุณภาพดี เช่น การตัดผลอ่อนบางส่วนทิ้ง ทำให้ผลที่เหลือมีขนาดและน้ำหนักใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันเนื้อที่ให้ผลของทุเรียนเพิ่มขึ้น และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรที่โค่นต้นแก่ของไม้ผลอื่นๆ และโค่นยางพาราที่ราคาไม่จูงใจ หันมาปลูกทุเรียนแทน

ทุเรียนทะลัก! ชาวสวนใต้แห่ปลูกเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ส่งออกควรควบคุมคุณภาพของทุเรียน ทั้งเรื่องทุเรียนอ่อน และวัตถุปนเปื้อนที่อาจทำให้เกิดปัญหาการส่งออกได้ ซึ่ง สศก. จะได้ร่วมติดตามสถานการณ์การผลิตและปริมาณผลผลิตไม้ผลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมมาตรการนโยบาย โดยคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ จะมีการประชุมเพื่อสรุปผลอีกครั้ง