พิษสงครามการค้า ฉุดส่งออกไทยลดต่อเนื่อง

22 พ.ค. 2562 | 04:52 น.

สงครามการค้าพ่นพิษค้าโลกวูบต่อเนื่อง หลายชาติชะลอนำเข้า ฉุดส่งออกไทย  4 เดือนแรกติดลบ 1.9 % ล่าสุดเดือนเมษายน -2.6% พาณิชย์เตรียมเชิญเอกชนหารือ 29 พ.ค.นี้ปรับแผนรับมือ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึง การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2562 ว่า มีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวลดลง 2.6 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวติดลบอีกครั้ง หลังจากที่เดือน มีนาคม 2562 เพิ่งติดลบ 4.8 % ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 1.9 % โดยมีมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ   ส่วนการนำเข้าเดือนเมษายน 2562 มีมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 0.7 %  ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือนเมษายน 2562 มูลค่า 1,457 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ภาพรวมช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ไทยยังเกินดุลการค้า 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนที่เหลือจะต้องผลักดันการส่งออกให้ได้ 21,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน จะทำให้การส่งออกขยายตัวทั้งปีที่ 0%

พิษสงครามการค้า ฉุดส่งออกไทยลดต่อเนื่อง  

สำหรับสาเหตุที่การส่งออกลดลงต่อเนื่องเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้กระทบกำลังซื้อทั่วโลกอย่างชัดเจน และยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมลดลงมาก ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากเทคโนโลยีของไทยล้าสมัย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลในระยะยาว หากไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิต เช่น สินค้าในกลุ่มรถยนต์ ไทยยังผลิตรูปแบบเดิม ในขณะที่ประเทศผู้ซื้อหันไปนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายกลุ่มที่ส่งออกเพิ่ม เช่น กลุ่มอาหาร ทั้งอาหารทะเล และผลไม้สด โดยเฉพาะมังคุด แม้จะไม่ได้ส่งออกมากเท่ากับทุเรียน แต่พบว่ามีการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ามองว่ากลยุทธ์ที่ไทยจะใช้รับมือสงครามการค้าจะต้องเน้น 2 S ได้แก่ Speed & Strategy กล่าวคือ ต้องแสวงหาโอกาสจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงจากสงครามการค้า ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาตลาดเดิมเอาไว้ให้ได้

“สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น  ไทยต้องเร่งหาโอกาสในการเข้าไปทดแทนในตลาดดังกล่าว โดยตลาดสหรัฐฯที่ขึ้นภาษีสินค้าจีน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้นสินค้าไทยมีโอกาสเข้าไปเจาะ กว่า 1,500 รายการ หรือมูลค่า 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องเทศ เครื่องนุ่งห่ม  เครื่องประดับ อัญมณี และสินค้าไลฟ์สไตล์   ส่วนสินค้าที่ไทยมีโอกาสไปทดแทนตลาดจีน  เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้สนค.จะเชิญภาคเอกชนทุกอุตสาหกรรม มาหารือในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 และจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) ในวันที่21 มิถุนายนนี้ด้วย หลังจากที่นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงพาณิชย์หารือเรื่องสงครามการค้าและการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สำหรับข้อเสนอที่เอกชนเสนอมา เช่น การตั้งวอร์รูมข้อมูลข่าวสารที่สามารถตอบคำถามเอกชนได้ ส่วนในระยะยาวเน้นการดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มากขึ้น