CIMBTผนึกจีนปั้นโปรแกรม ค้นหาคนมีวินัยชำระหนี้

23 พ.ค. 2562 | 00:00 น.

ช่วงนี้จะเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทยอยแต่งตั้งตัวแทน หรือ “แบงกิ้ง เอเยนต์” กันอย่างคึกคัก และส่วนใหญ่เลือกจับมือกับ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส เนื่องจากมีจุดบริการที่มากกว่า 11,000 สาขาทั่วประเทศ

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีแผนที่จะแต่งตั้งแบงกิ้ง เอเยนต์เช่นกัน เพราะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทำให้มีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น และเป็นประโยชน์กับธนาคารอย่างมหาศาล เพราะต้นทุนในการให้บริการตํ่าลง ไม่ต้องไปสร้างสาขา ไปจ้างคน แม้การสร้างสาขาจะไม่ได้เป็นภาระอะไรมาก แต่จ้างคน การอบรมคนให้มีคุณภาพอยู่ตลอดเวลาในการให้บริการเป็นเรื่องยาก

ส่วนการตั้ง “เซเว่น อีเลฟเว่น” เป็นแบงกิ้งเอเยนต์ ถ้าพร้อมก็จะทำ วันนี้เพียงแค่รอให้แบงก์ใหญ่ทำไปก่อน พอทุกอย่างราบรื่นแล้วเราตามไปแน่ๆ ซึ่งแบงกิ้งเอเยนต์มีหลายรูปแบบ ในเซเว่นอีเลฟเว่น รับทำคือ รับฝาก รับถอน ซึ่งเราเคยมีแบงกิ้งเอเยนต์คือ เอไอเอส ปัจจุบันก็ยังป็นอยู่ ในการรับเปิดบัญชี รับถอน รับฝากผ่านตู้จ่ายบิลที่รับเงินได้ ถอนเงินได้ ทำได้ทุกสาขา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราเป็นแบงก์เล็ก ซึ่งปัญหาของแบงก์เล็กคือ พอทำอะไรที่ลํ้าหน้าไป แล้วตลาดไม่ไป ประชาชนไม่มีความคุ้นเคย ก็ไม่มีใครอยากใช้ เพราะยังคุ้นกับการไปถอนที่ตู้เอทีเอ็ม เดินผ่านเอไอเอสอีกหน่อย ก็ถึงตู้เอทีเอ็มแล้ว

CIMBTผนึกจีนปั้นโปรแกรม ค้นหาคนมีวินัยชำระหนี้

อดิศร เสริมชัยวงศ์

 

“ปัญหาของเราคือ เวลาที่เราทำอะไรที่เป็นเรื่องดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่อง Payment Space ฝาก ถอน โอน จ่าย เราได้รับการตอบรับน้อยมาก วันนี้เปลี่ยนใหม่แล้ว ซีไอเอ็มบีไทย เราไม่ได้โฟกัสกับ Payment Space แล้ว เรามาโฟกัสกับ Lending แทน เพราะในเมืองไทยยังมีความต้องการสินเชื่ออยู่มาก แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) จะบอกว่าหนี้ครัวเรือนสูงก็ตาม”

 

ทั้งนี้จากรายงานการสำรวจหนี้ครัวเรือนของมหา วิทยาลัยหอการค้าไทย มีตัวเลขที่น่าตกใจคือ ยอดหนี้นอกระบบสัดส่วนสูงถึง 40% ซึ่งกลุ่มนี้จ่ายดอกเบี้ยเท่าไหร่ ถ้ามัวแต่พะวงว่าหนี้ในระบบสูง แต่รู้มั้ยว่าหนี้นอกระบบยังมีอีกถึง 40% ที่จ่ายดอกเบี้ย 10% ต่อเดือนและหักดอกก่อน ทุกวันนี้คนที่เดือดร้อนจากหนี้ครัวเรือนคือ คนที่มีหนี้นอกระบบ เพราะถ้าเป็นหนี้แบงก์แล้วไม่จ่าย เต็มที่ก็มีเจ้าหน้าที่โทร.สอบถาม อ้อนวอนให้จ่าย แต่ไม่ทำอะไร เพราะถ้าหนี้ไม่ถึงแสนบาท ฟ้องไปก็ไม่คุ้มค่าทนาย แค่เซ้าซี้ กวนใจ แต่ถ้าเจ้าหนี้นอกระบบนี่ เขาไม่ใช่แค่ทำให้เซ้าซี้ กวนใจแน่

วันนี้เราปล่อยสินเชื่อคนระดับล่าง คุณภาพหนี้ไม่ดี จะคิดดอกเบี้ยสูง 28% ต่อปี แต่ก็ยังถูกกว่าที่เขาจ่ายหนี้นอกระบบ 2-3 เท่า เพราะ 10% ต่อเดือน รวมแล้วเกือบ 200% แต่เราคิดแค่ 28% แต่ต้องมีวิธีคัดกรอง กำลังจะเปิดตัวกลางปีคือ จะใช้ข้อมูลจากมือถือเป็นตัวประเมินความเสี่ยงลูกค้า โดยจะดูว่าใช้มือถืออย่างไร เพื่อหาสกอริ่งว่า คุณมีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน จะทำให้เราสามารถปล่อยสินเชื่อได้อย่างรวดเร็วและปล่อยได้ในกลุ่มที่หลากหลายมากขึ้น   

ส่วนกรณีที่เซเว่นอีเลฟเว่น มีแผนที่จะปล่อยกู้ในอนาคตนั้น มีความเป็นไปได้ที่คนจะมาเล่นเยอะขึ้น แต่ยิ่งเยอะยิ่งดีีต่อผู้บริโภค ซึ่งวันนี้ตลาดเปิดกว้างมาก เพราะยังไม่มีใครรู้ว่ากระบวนการปล่อยกู้นั้นทำอย่างไรจึงจะกำไร ซึ่งกำไรคือ รู้ว่าใครจริงใจที่จะจ่ายหนี้ ไม่เป็นหนี้เสีย  

เวลาปล่อยสินเชื่อมี 2 เรื่องที่ดูคือ ความสามารถในการชำระหนี้กับวินัยในการชำระหนี้ คนรากหญ้ามีวินัยสูง แต่ความสามารถในการชำระหนี้อาจจะตํ่า เพราะรายได้ผันผวน แต่เมื่อไหร่ไปทวง เขาจ่ายทันที เราต้องหาคนเหล่านี้ให้เจอ คนที่มีวินัย แต่ทุกวันนี้แบงก์ดูรายได้ขาเดียว แต่ไม่ได้ดูวินัยเรื่องการชำระหนี้เลย

วันนี้เรากำลังทำงานร่วมกับบริษัทจากจีน เพื่อทำโปรแกรมในการดึงข้อมูลต่างๆเหล่านี้มาและต้องหารือกับแบงก์ชาติด้วย เพื่อให้เราสามารถเข้าไปดูข้อมูลผ่านมือถือของลูกค้าได้ เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งน่าจะดำเนินการได้ประมาณไตรมาส 3 ปีนี้ 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

CIMBTผนึกจีนปั้นโปรแกรม ค้นหาคนมีวินัยชำระหนี้