สศอ. ผนึก ม.เกษตร ยกระดับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

22 พ.ค. 2562 | 04:18 น.

สศอ.ประสานความร่วมมือกับภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคส่วนต่าง ๆ 

สศอ. ผนึก ม.เกษตร ยกระดับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

นายอิทธิชัย  ยศศรี  รองผู้อำนวยการ  สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  (สศอ.)  เปิดเผยว่า  สศอ.ต้องการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์  ด้วยการร่วมมือกับภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุศาสตร์  คณะอุตสาหกรรมเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (Packaging Intelligence Unit) ให้เป็นแหล่งข้อมูลที่มีความทันสมัย เชื่อถือได้ และเดินหน้าพัฒนาระบบให้สามารถเข้าถึงผู้ใช้ข้อมูลได้ง่าย  เพื่อเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐได้มีข้อมูลในการวางนโยบายและกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์  ภาคการศึกษามีเครื่องมือสำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับยุคดิจิตอล และผู้ประกอบการภาคเอกชนมีข้อมูลในการวางแผนประกอบการดำเนินธุรกิจ

สำหรับฐานข้อมูลอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ได้มีการรวบรวมข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีการอัพเดทข้อมูล ข่าวสารความเคลื่อนไหว รายงานสถานการณ์และการวิเคราะห์ให้เป็นปัจจุบัน ทันต่อเหตุการณ์ทั้งจากในและต่างประเทศอยู่เสมอ ทั้งฐานข้อมูลผู้ประกอบการ ฐานข้อมูลการออกแบบ ฐานข้อมูลเทคโนโลยี พร้อมการพัฒนาให้ทันสมัย ทั้งระบบการแสดงผล ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และระบบสนับสนุนฐานข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว  และมีการพัฒนาระบบการแสดงผลเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทาง https://packaging.oie.go.th

สศอ. ผนึก ม.เกษตร ยกระดับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

“อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ได้เข้ามามีความสำคัญอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ  เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่คอยสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงได้กับทุกอุตสาหกรรม  จึงทำให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ในช่วง  2 – 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 คาดว่าจะมีรายได้รวมกว่า 470,000 ล้านบาท  แต่ทว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งด้านข่าวสารและเทคโนโลยี  จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ  เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและการค้ายุคใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก”