ชงเมกะโปรเจ็กต์รับรัฐบาลใหม่

23 พ.ค. 2562 | 23:45 น.

แม้ประเด็นทางการเมืองกำลังคุกรุ่นว่าใครจะเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ใครจะครองตำแหน่งประธานรัฐสภาหรือนั่งนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับภารกิจของการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาระบบคมนาคมยังเดินหน้าต่อเนื่อง อีกหลายโครงการพร้อมนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่เร่งผลักดัน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงคมนาคมช่วงก้าวเข้าสู่รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหินที่หลายฝ่ายมองว่าเสี่ยงต่อการลงทุนเนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นช่วยศึกษาออกแบบหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าต้องการขายของให้ไทยเท่านั้น

เช่นเดียวกับเส้นทางสายใต้ที่ไม่มีพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลอย่างโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีรองรับจึงเสี่ยงต่อการลงทุน อีกทั้งยังต้องขนเงินมหาศาลไปลงทุนรถไฟไทย-จีนในช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ตลอดจนรถไฟทางคู่อีกหลายเส้นทางรวมงบลงทุนอีกหลายแสนล้านบาท

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ

 

“ยอมรับว่ายากเนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อย่างไรก็ตามคงต้องรอนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ประการสำคัญเส้นกรุงเทพฯ-หนองคายมีเป้าหมายชัดเจนที่จะเชื่อมไปยังจีน ส่วนรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจอีอีซี ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่และกรุงเทพฯ-หัวหินนั้นเป็นเพียงเพิ่มระบบขนส่งมวลชน แต่สายอีสานทั้งขนส่งมวลชนและสินค้าจึงเป็นเครื่องมือของการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน”

 

ขับเคลื่อนโครงการใหญ่

ปลัดระบุว่ามี 2 แนวทาง คือ การร่วมลงทุนตามนโยบายคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) และแนวทางที่รัฐตั้งบริษัทรูปแบบโฮล ดิ้งเพื่อไปขับเคลื่อนโครงการต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาพื้นที่ต่างๆที่จะต้องร่วมกับท้องถิ่นพัฒนาโครงการต่างๆให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุน

“โฮลดิ้งจะต้องมีรัฐบาลกลาง และเอกชนท้องถิ่น อาทิ บริษัทพัฒนาเมืองเข้ามาร่วมดำเนินโครงการในเชิงพื้นที่ ส่วนรัฐบาลกลางจะลงทุนโดยให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการ เบื้องต้นนั้นคงต้องรอดูเส้นทางสายอื่นสักระยะหนึ่งก่อนว่าจะมีแนวทางความสำเร็จหรือไม่อย่างไร หากรัฐลงทุนจำนวนมากในคราวเดียวจะเสี่ยงเกินไป อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เน้นให้ความสำคัญกับไฮสปีดเทรนแต่จะเน้นไปที่รถไฟทางคู่มากกว่า อยากให้มีขบวนรถดีๆสะดวก ปลอดภัยและใช้ระบบไฟฟ้าเปิดให้บริการไปก่อน เมื่อเต็มพิกัดแล้วค่อยขยับเป็นรถไฟความเร็วสูงในระยะต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมือง พัฒนาระบบเชื่อมต่อให้เข้าถึงบริการระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น”

ระบบขนส่งในภูมิภาค

เร่งผลักดันระบบขนส่งมวลชนเมืองหลักในภูมิภาคนั้น ยังมีแผนแม่บทของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่สนข.จะวางแผนแล้วให้ท้องถิ่นนั้นๆได้เข้ามาบริหาร จัดการซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่พบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับบริษัทพัฒนาเข้าไปบริหารจัดการเกิดผลแล้วหลายเส้นทาง

“ยืนยันว่าดำเนินการตามแผนแม่บท เน้นยึดผลประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลักก่อน วางแผนไปแล้วต้องทำตามแผน แต่เมื่อทำตามแผนแล้วพบอุปสรรคปัญหาก็ต้องมีแนวทางปรับปรุงได้ให้โครงการอยู่รอดโดยไม่เป็นภาระแก่ภาครัฐและประชาชนได้ประโยชน์จริงซึ่งแผนแต่ละเส้นทางผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)เรียบร้อยแล้ว”

ชงเมกะโปรเจ็กต์รับรัฐบาลใหม่

ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรีต้องเร่งปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อป้อนให้กับรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ล่าสุดสนข.ว่าจ้างที่ปรึกษาลงพื้นที่จัดทำผลการศึกษาระบบบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี คาดว่าปลายปีนี้จะได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันศักยภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกได้เปรียบกว่าภาคเหนือและภาคใต้ แต่ยังเชื่อว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศจะเร่งส่วนต่อขยายทั้งทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟ รถไฟฟ้า ซึ่งมอเตอร์เวย์เส้นทางเชื่อมจากนครราชสีมา-ระยองยังน่าสนใจ เช่นเดียวกับการพัฒนารถไฟทางคู่เพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ใหม่ๆมากขึ้น โดยยังเห็นว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังต้องเร่งพัฒนาทางธุรกิจให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจด้านการเกษตรของโลกให้เกิดการค้าขายระดับโลก ดังนั้นจึงต้องระดมความเห็นจากนักธุรกิจในพื้นที่มาบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาระดับภาค ระดับจังหวัดและอำเภอ ไม่ให้เกิดการแข่งขันกันแต่ให้เกื้อหนุนกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดต่างทำกันอีกต่อไป”

ทั้งนี้ในอนาคตแผนการพัฒนาภาคใต้ควรเร่งเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยให้ได้โดยเร็วโดยใช้ระบบรางในการเชื่อมโยง ขณะนี้รถไฟทางคู่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง สนามบินเร่งพัฒนาเพิ่มศักยภาพ เรือมีการยกระดับศักยภาพให้บริการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรือสำราญเชื่อมฝั่งทะเล ยังเหลือแต่ถนนเส้นทางสายรองที่จะต้องเร่งผลักดันต่อไป 

สัมภาษณ์ | หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3472 ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2562