ธปท.ลั่นไม่ปรับเกณฑ์ LTV  ชี้ Q3 สินเชื่อบ้านกลับมาโตปกติ 

21 พ.ค. 2562 | 11:07 น.

ธปท.ยันไม่ปรับเกณฑ์ LTV หลังแบงก์โวยสินเชื่อเดือนเมษายนหดตัวแรง ชี้ มาจากเร่งปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 61 ก่อนมาตรการบังคับใช้ คาดไตรมาสที่ 3-4 สินเชื่อกลับมาเป็นปกติ เผยหวังช่วยคุณภาพเอ็นพีแอลระยะยาวดีขึ้น หลังขยับเพิ่มขึ้นจาก 3.25% เป็น 3.35% ด้านผลประกอบการแบงก์ มั่นใจสินเชื่อทั้งปีโตได้ 5-6% ระบุอุปโภคบริโภคโตดี-เอสเอ็มอียังต้องระวัง 
 
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.คงยังไม่มีการปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) แต่อย่างใด แม้ว่าไตรมาส 2 สินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจจะชะลอตัวลง แต่เป็นผลมาจากสินเชื่อที่เร่งตัวก่อนหน้า โดยยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท หากเทียบค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ในช่วงไตรมาสที่ 1 จะมียอดปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท สะท้อนว่าสินเชื่อเร่งตัวค่อนข้างมากตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ทำให้ยอดสินเชื่อเดือนเมษายนปรับลดลง เพราะมีการเร่งปล่อย 2 ไตรมาส อย่างไรก็ดี หากติดตามผลประกอบการของภาคอสังหาริมทรัพย์จะพบว่ามีกำไรเติบโตเฉลี่ยถึง 27% 
 

ดังนั้น ธปท.คาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในไตรมาสที่ 3-4 หลังจากใช้เวลาการปรับตัว 2 ไตรมาส และเริ่มเห็นผลจากมาตรการ LTV ชัดเจน โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะปรับตัวดีขึ้นสำหรับสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ธปท.ตั้งใจอยากเห็นผลในระยะยาว โดยไม่กระทบบ้านหลังแรก และให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้น 
 ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ภายหลังจากธปท.เข้าไปตรวจสอบพิเศษเฉพาะด้านนั้น พบว่า การแข่งขันค่อนข้างสูงและรุนแรง โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่น เช่น การให้ผ่อนนานสูงสุดถึง 7 ปี วงเงินกู้สูงสุดมากกว่า 100% หรือ สมัครง่าย รู้ผลไว อนุมัติใน 1 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้สะท้อนการแข่งขันที่สูง ทำให้มีการเร่งปล่อยสินเชื่อ โดยสินเชื่อรถแลกเงิน (Car for Cash) มีอัตราการเติบโตสูงถึง 40% และสินเชื่อเช่าซื้อขยายตัว 10% 
 
 

ทั้งนี้ หากดูประเภทผู้ให้บริการสินเชื่อ พบว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของสินเชื่อรถยนต์มาจากธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในเครือ และอีก 1 ใน 3 เป็นบริษัทลีสซิ่งที่อยู่นอกการกำกับดูแลของธปท. หากแบ่งสัดส่วนประเภทสินเชื่อ จะแบ่งเป็น สินเชื่อรถใหม่ 58% สินเชื่อรถใช้แล้ว 25% สินเชื่อโอนเล่มทะเบียน (Sales & Lease Back) อยู่ที่ 13% และจำนำทะเบียนรถ 4% อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการตรวจสอบธปท.ได้พูดคุยกับทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกสักระยะในการประเมิน คาดว่าจะรู้ผลราวเดือนสิงหาคมนี้ 

นายสมชาย กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2 เท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) หรือคิดเป็นการเติบโตประมาณ 5-6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีความเป็นไปได้ สอดคล้องกับรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ที่ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกออกมาอยู่ที่ 2.8% ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังเร่งปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ภาพรวมผลการดำเนินงานระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 พบว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอตัวลงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 อยู่ที่ 6% มาอยู่ที่ 5.6% จากการชำระหนี้คืนของธุรกิจขนาดใหญ่ สอดคล้องกับภาพรวมการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 12.4% มาอยู่ที่ 14% โดยสินเชื่อธุรกิจชะลอตัวลงจาก 4.4% เหลือ 3.4% 

อย่างไรก็ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวดีทุกพอร์ตอยู่ที่ 10.1% จากไตรมาส 4 ขยายตัวอยู่ที่ 9.4% มาจากภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวและการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ การแข่งขันปล่อยสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาสที่ 1 เติบโต 9.1% รถยนต์ เติบโต 11.4% จากไตรมาส 4 ขยายตัว 12.6% บัตรเครดิตเติบโต 8.8% จาก 7.4% และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 11.2% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 10.1% 

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.94% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 โดยยอดคงค้างเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.54 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว 2.3% ลดลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ที่ขยายตัว 4.3% โดยมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เร่งตัวขึ้นจาก 4.46% มาอยู่ที่ 4.60% ส่วนเอ็นพีแอลสินเชื่ออุปโภคบริโภคในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับขึ้นจาก 3.25% มาอยู่ที่ 3.35% และสินเชื่อรถยนต์จาก 1.66%มาอยู่ที่ 1.71% 

“แนวโน้มเอ็นพีแอลมาจากสภาพเศรษฐกิจเป็นสำคัญ หากเศรษฐกิจไม่ดี คุณภาพสินเชื่อก็จะถูกกระทบ แต่หากเศรษฐกิจดี สินเชื่อจะดีขึ้น อย่างไรก็ดี เกณฑ์ LTV หากมองไปข้างหน้าจะช่วยทำให้คุณภาพสินเชื่อบ้านดีขึ้น ซึ่งต้องรอติดตามสินเชื่อปล่อยใหม่ในระยะข้างหน้าจะแสดงผลออกมา แต่ในระหว่างนี้อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวสักระยะ”