อำนาจต่อรองเหลือเฟือ‘จีน’โชว์แหล่งผลิตสินแร่หายาก

25 พ.ค. 2562 | 01:15 น.

สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกายังคงมีแนวโน้มยืดเยื้อ หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างก่อกำแพงภาษีสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย ขณะที่สหรัฐฯเองก็เปิดแนวรบด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มสูบด้วยการประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีฯ ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีน และบริษัทในเครือหัวเว่ยอีก 68 บริษัท ห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกิจซื้อขายด้วยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ แม้จะมีการประกาศยืดหยุ่นผ่อนคลายคำสั่งในเวลาต่อมา (20 พ.ค.) แต่ก็ไม่ได้ทำให้อุณหภูมิการเผชิญหน้าลดลงมากนัก หลายฝ่ายตั้งความหวังที่การพบกันนอกรอบการประชุม กลุ่ม G20 ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ว่าอาจจะเป็นโอกาสที่ระดับผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายจะได้เจรจาหาทางออกให้กับสงครามการค้าครั้งนี้

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น สายตาประชาคมโลกกำลังจับจ้องมาที่จีนว่าจะรับมือกับแรงบีบของสหรัฐฯในทุกๆทิศทางได้อย่างไร กรณีของหัวเว่ย นั้นเห็นได้ชัดว่า แรงกดดันจากภายนอกทำให้จีนต้องเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อปลดพันธนาการจากเทคโนโลยีของต่างประเทศที่จีนจำเป็นต้องพึ่งพาแต่ไม่สามารถควบคุมได้ หากถูกปิดกั้นการเข้าถึงซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นเหมือนอย่างที่สหรัฐฯกำลังเดินหมากอยู่ จีนจะหาทางออกอย่างไร ในส่วนของหัวเว่ยนั้น ผู้บริหารออกมาตอบชัดว่า เตรียมความพร้อมมาหลายปีว่าอาจต้องเจอเหตุการณ์ที่ว่านี้เข้าจริงๆ และคำตอบก็คือ หัวเว่ยกำลังพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาของตัวเอง ในอนาคตกำลังพัฒนาชิปสำหรับอุปกรณ์คอมพิว เตอร์และแท็บเลตของหัวเว่ยเองอีกด้วย เพื่อปลดภาระการพึ่งพาชิปของบริษัทอเมริกัน

อำนาจต่อรองเหลือเฟือ‘จีน’โชว์แหล่งผลิตสินแร่หายาก

ยิ่งไปกว่านั้นคือการพัฒนาแหล่งสินแร่โลหะหายาก (rare- earth metals) ภายในประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฮเทคของจีนเอง เนื่องจากสินแร่หายากเหล่านี้ เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเป็น ที่ต้องการทั่วโลก การเป็นเจ้าของทรัพยากรที่มีค่ายิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้จีนมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าไฮเทค ภายในประเทศให้แข็งแกร่งถึงระดับ “มหาอำนาจ” ทางเทคโนโลยีตาม แผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ แต่การเป็นผู้ครอบครองสินแร่หายากยังช่วยให้จีนมีอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ มากขึ้นด้วย เนื่องจากบริษัทไฮเทค ของอเมริกันมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินแร่หายากปริมาณมหาศาลในแต่ละปีเพื่อนำไปใช้ในการผลิตสินค้าไฮเทคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ทีวีจอแบน แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์โทรคมนาคม ข่าวการเดินทางเยือน โรงงานถลุงและแปรรูปสินแร่หายากแห่งหนึ่งในเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อต้นสัปดาห์นี้ จึงถูกตีความว่า นี่คือการส่งสัญญาณให้สหรัฐฯรู้ว่า อย่าบีบจีนให้มาก  เพราะหากจีนจำกัดการส่งออกสินแร่เหล่านี้ บริษัทผู้ผลิตสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯก็จะได้ลิ้มรสชาติความยากลำบากเหมือนกับที่ หัวเว่ย กำลังถูกบีบอยู่ในเวลานี้

 

ข้อมูลจากทางการสหรัฐฯชี้ว่า ปัจจุบัน จีนคือผู้ผลิตสินแร่หายาก 71% ของทั้งหมดที่มีออกสู่ตลาดโลกในปีที่ผ่านมา (2561) ปริมาณการผลิตของจีนอยู่ที่ 120,000 ตันต่อปี แม้สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย จะผลิตเองได้เช่นกัน แต่ก็เป็นปริมาณที่น้อยกว่าจีนอยู่หลายเท่า ระหว่างปี 2014-2017 สถิติชี้ว่า ทุกๆ 5 ตันที่สหรัฐฯนำเข้าสินแร่หายาก ในจำนวนนั้น 4 ตันจะมาจากประเทศจีน เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯต้องพึ่งพาการนำเข้าสินแร่หายากจากจีน และสินค้านำเข้าดังกล่าวก็ไม่อยู่ในข่ายสินค้าที่ถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้นด้วย

ก่อนหน้านี้ ในสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่นเคยยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) กล่าวหาจีนมาแล้ว ว่าจีนพยายามควบคุมและจำกัดการส่งออกสินแร่หายากซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในสินค้าไฮเทคหลายประเภท ผู้นำสหรัฐฯในเวลานั้น กล่าวหาว่าจีนพยายามควบคุมปริมาณการส่งออกสินแร่หายากซึ่งขัดกับกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ โดยข้อมูลของยูเอสทีอาร์ชี้ว่า จีนได้ลดการส่งออกสินแร่หายากลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทในประเทศจีนได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรมในการผลิตสินค้าไฮเทค ซึ่งเกี่ยวกับข้อกล่าวหานี้ ทางการจีนโต้ตอบกลับมาว่า จีนจำเป็นต้องจำกัดการส่งออกสินแร่หายากเพื่อให้เพียงพอสนองความต้องการในประเทศจีนเอง และเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมือง ปัจจุบันจีนคือผู้ควบคุมปริมาณสำรองสินแร่หายากของโลกประมาณ 95%

 

สินแร่หายากที่นำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมมีอยู่ 5 ประเภท คือสแคนเดียม (Scandium) ใช้ในอุตสาหกรรมขุดเจาะนํ้ามัน โพรมีเทียม (Promethium) ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์ แลนทานัม (Lanthanum) ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกล้องถ่ายรูป อิตเทรียม (Yttrium) ใช้ในการผลิตโทรทัศน์และเตาอบไมโครเวฟ และเพรซีโอดีเมียม (Praseodymium) ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตใยแก้วนำแสงและเครื่องยนต์ของเครื่องบิน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่จีนควบคุมการส่งออกสินแร่หายากและวัตถุดิบสำคัญต่างๆ จะมีผลทำให้บริษัทผลิตสินค้าไฮเทคของจีนได้เปรียบบริษัทต่างชาติเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตตํ่ากว่า นอกจากนี้ ยังทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าไฮเทคต่างชาติ มีแรงจูงใจที่จะโยกย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้นด้วย 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3472 ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2562