“แอร์พอร์ตลิ้งค์”ต่อยอดให้บริการ เร่งใช้คิวอาร์โค้ดชำระค่าโดยสาร 

21 พ.ค. 2562 | 08:21 น.


แอร์พอร์ตลิ้งค์ยกเครื่องงานให้บริการรับชำระค่าโดยสารเตรียมใช้ระบบคิวอาร์โค้ด ก.ย.นี้พร้อมกับระบบตั๋วร่วมแมงมุม เพื่อต่อยอดการใช้ระบบ ETC ในบัตรสวัสดิการของรัฐ ล่าสุดลงทุน 4 แสนเปิดให้บริการทางพาดพับได้สำหรับรถเข็นวีลแชร์ให้แก่คนพิการครบทั้ง 8 สถานีคาดว่าผู้ใช้บริการเพิ่มไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อวัน

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล  ลิงก์ เปิดเผยว่า จากปัจจุบันได้นำระบบ ETC มาให้บริการตามจุดขายตั๋วโดยสารของทั้ง 8 สถานีเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนผู้มีรายได้น้อยจากการใช้บริการบัตรสวัสดิการของรัฐโดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปโดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มเติมเข้ามาสู่ระบบอีกอย่างต่อเนื่องจากปัจจุบันวันละประมาณ 8-9 หมื่นคน คาดว่าจะเพิ่มอีกราว 5,000 คน 

“ช่วงแรกนี้ยังมีผู้ใช้บริการจำนวนน้อย ส่วนปลายปีจะเริ่มใช้ระบบบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 ปัจจุบันระบบบัตรให้บริการแอร์พอร์ตลิ้งค์มี 2 รูปแบบ คือบัตรโดยสาร และเหรียญโดยสาร      ซึ่งบัตรโดยสารสามารถซื้อ ณ จุดจำหน่ายตั๋วทุกสถานีได้ทันทีและเติมเงินได้จากจุดติดตั้งเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติซึ่งเติมเงินได้สูงสุด 3,000 บาท นอกจากนั้นยังมีตั๋วทั่วไป ตั๋วนักเรียน นักศึกษา โดยตั๋วผู้สูงอายุ มีส่วนลดให้ 50%  ส่วนในอนาคตจะเพิ่มความสะดวกสำหรับการใช้บริการผ่านระบบคิวอาร์โค้ดสามารถเติมเงินให้บัตรได้เลยทันที โดยจะร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยร่วมให้บริการในครั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มให้บริการช่วงกันยายนนี้พร้อมกับระบบตั๋วร่วมแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 ของรัฐบาล”

นอกจากนั้นเมื่อเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ณ แอร์พอร์ต เรล  ลิงก์ สถานีมักกะสัน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ได้จัดงานเปิดตัวอุปกรณ์ทางพาดพับได้สำหรับรถเข็นวีลแชร์ (Portable wheelchair ramp) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ทุพพลภาพ และคนพิการให้สามารถเข้าสู่ขบวนรถไฟฟ้าได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น โดยมีนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ และประธานคณะติดตามระบบรางภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้เป็นตัวแทนร่วมสาธิต และทดลองใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

“บริษัทได้เล็งเห็นความสำคัญ และมีนโยบายในการช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงการใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล  ลิงก์ อย่างสะดวก ปลอดภัยและเท่าเทียม ทั้งประชาชนคนปกติทั่วไป และผู้ทุพพลภาพหรือคนพิการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ และคนพิการที่อาจจำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกมากกว่าปกติ ซึ่งบริษัทมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ทุกคนให้ความช่วยเหลือผู้ทุพพลภาพ และคนพิการในการเข้าใช้บริการอย่างเต็มที่ รวมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการเดินทางของผู้ทุพพลภาพ และคนพิการต่างๆเพื่อรองรับการใช้บริการ”

นายสุเทพกล่าวอีกว่าล่าสุดบริษัทได้ลงทุน 4 แสนบาทจัดหาอุปกรณ์ทางพาดพับได้สำหรับรถเข็นวีลแชร์ ( Portable wheelchair ramp ) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้บริการให้แก่ผู้โดยสารทุพพลภาพ และคนพิการที่ต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ในการเข้าสู่ขบวนรถไฟ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะทางรางของไทย 

 

 

 

ทั้งนี้บริษัทได้จัดเตรียมคู่มือการใช้งาน และอบรมขั้นตอนการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำสถานี และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้ง 8 สถานีๆละ 1 ชุดเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารทุพพลภาพ และคนพิการที่ต้องการใช้บริการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ด้านนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล  ลิงก์ เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงการใช้บริการอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ และคนพิการ ซึ่งทางพาดพับได้สำหรับรถเข็นวีลแชร์ (Portable wheelchair ramp)  จะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน