ลงทุนอีอีซีวูบ 9 หมื่นล้าน ไตรมาส 1 ยอดขอรับส่งเสริมแค่ 116 โครงการ

24 พ.ค. 2562 | 05:10 น.

 

 

 

บีโอไอ เผยลงทุนในอีอีซีไตรมาสแรกปีนี้ ยื่นขอส่งเสริมฯ 116 โครงการ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตฯเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ปิโตรเคมี และยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่าเงินลงทุน 7.5 หมื่นล้าน เม็ดเงินหายไป 9 หมื่นล้าน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้รายงานสภาวะการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ช่วงไตรมาสแรกของปี(มกราคม-มีนาคม) ซึ่งพบว่ามีเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ยังคงสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมีการยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในแง่ของโครงการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นโครงการที่ไม่ใหญ่มากนัก จึงส่งผลให้มูลค่าเงินลงทุนลดลงกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถานการณ์การลงทุนในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 387 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12% มูลค่าเงินลงทุนรวม 128,903 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36% หรืออยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท จาก 345 โครงการ

ทั้งนี้ หากพิจารณาการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี พบว่ามีจำนวน 116 โครงการ เงินลงทุน 75,054 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา 17 โครงการ เงินลงทุน 4,850 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 54 โครงการเงินลงทุน 52,401 ล้านบาท และจังหวัดระยอง 45 โครงการ เงินลงทุน 17,803 ล้านบาท

ลงทุนอีอีซีวูบ 9 หมื่นล้าน ไตรมาส 1 ยอดขอรับส่งเสริมแค่ 116 โครงการ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีไตรมาสแรกปีนี้ จำนวนโครงการจะปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 70 โครงการก็ตาม แต่หากพิจารณาในแง่เม็ดเงินลงทุนแล้วมีมูลค่าลดลงค่อนข้างมากถึง 55% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีมูลค่าถึง 1.65 แสนล้านบาท หรือปรับตัวลดลงราว 9 หมื่นล้านบาท โดยเม็ดเงินลงทุนที่ลดลงนี้ ส่วนใหญ่น่าจะมาจากโครงการขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ได้มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนไปจำนวนมากในช่วงปีที่แล้ว

ลงทุนอีอีซีวูบ 9 หมื่นล้าน ไตรมาส 1 ยอดขอรับส่งเสริมแค่ 116 โครงการ

ทั้งนี้ เห็นได้จากการยื่นขอรับส่งเสริมฯใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ส่วนใหญ่จะลงทุนในอีอีซี แม้จะมีจำนวน 199 โครงการ คิดเป็น 51% ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด เงินลงทุน 58,803 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของมูลค่าการยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมดก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า เม็ดเงินลงทุนปรับตัวลดลงจากที่เคยยื่นขอรับส่งเสริมในไตรมาสแรกปีก่อนอยู่ที่1.82 แสนล้านบาท จาก 158 โครงการ โดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีการยื่นขอรับส่งเสริมฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จำนวน 24 โครงการ แต่มีเม็ดเงินลงทุนเพียง 7,468 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อนมี 18 โครงการ เงินลงทุน 1.61 แสนล้านบาท จึงส่งผลให้การลงทุนในพื้นที่อีอีซีมีมูลค่าลดลงตามไปด้วย

นางสาวดวงใจ กล่าวอีกว่า ส่วนการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกปีนี้ หลังจากมีการยื่นขอส่งเสริมฯสะสมมากจากปีก่อนๆ มีจำนวน 411 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 1.34 แสนล้านบาท เป็นการอนุมัติส่งเสริมฯใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 194 โครงการเงินลงทุน 1.08 แสนล้านบาท 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3472 ระหว่างวันที่ 23 - 25 พฤษภาคม 2562

ลงทุนอีอีซีวูบ 9 หมื่นล้าน ไตรมาส 1 ยอดขอรับส่งเสริมแค่ 116 โครงการ