รถยนต์-อิเล็กฯระทึก ส่งออก2.4ล้านล.อ่วม

21 พ.ค. 2562 | 08:35 น.

2 กลุ่มสินค้าใหญ่ “รถยนต์และชิ้นส่วน-อิเล็กทรอนิกส์” ส่งออกค่า 2.4 ล้านล้านเสี่ยงวูบหนัก หลังปัจจัยลบรุมทั้งสงครามการค้า สหรัฐฯจ่อขึ้นภาษีรถยุโรป กฎใหม่ USMCA ยอด 3 เดือนแรกชี้แนวโน้มขาลง กลุ่มยานยนต์จ่อหดเป้าจาก 1.1 ล้านคัน อิเล็กทรอนิกส์ลุ้นพลิกบวก

จากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลงในปีนี้จากพิษสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังยืดเยื้อ โดยการขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันฝ่ายละกว่า 5,000 รายการจาก 10% เป็น 25% ของทั้ง 2 ฝ่ายครั้งล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ระบุอาจทำให้การส่งออกไทยลดลง 5,600-6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 1.7-2.1 แสนล้านบาท) โดยระบุ 2 กลุ่มสินค้าใหญ่คืออิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้ว่าหากสหรัฐฯตัดสินใจขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามคำขู่ การส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัว 0%

 

ยอด 3 เดือนขาลง

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรระบุในปี 2561 ไทยมีการส่งออกยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมูลค่ารวม 1.20 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.2% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ 4.67 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.7% ส่งออกไปจีน 4.40 หมื่นล้านบาท ลดลง 11% ส่วนช่วง 3 เดือน แรกปีนี้ส่งออกมูลค่ารวม 2.92 แสนล้านบาท ลดลง 7% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ 1.32 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% และส่งออกไปจีน 6,882 ล้านบาท ลดลง 36%

ส่วนสินค้าเครื่องอิเล็ก ทรอนิกส์ปี 2561 ไทยส่งออกมูลค่ารวม 1.22 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปสหรัฐฯ 2.58 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% และส่งออกไปจีน 1.31 แสนล้านบาท ลดลง 5.2% ส่วนช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ส่งออกมูลค่ารวม 2.66 แสนล้านบาท ลดลง 13% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ 5.51 หมื่นล้านบาท ลดลง 12% และส่งออกไปจีน 2.52 หมื่นล้านบาท ลดลง 23% ซึ่งสินค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมูลค่าส่งออกรวมกันกว่า 2.43 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนกว่า 30% ของมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2561 ที่ส่งออก 8.09 ล้านล้านบาท

นายชัยชาญ เจริญสุข กรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ-จีน เป็น 25% ในครั้งนี้สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมากสุดอยู่ในกลุ่มเครื่องอิเล็กทรอ นิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จากไทยเป็นห่วงโซ่การผลิต(ซัพพลายเชน)ที่สำคัญของจีน เพื่อผลิตส่งออกสินค้าสำเร็จรูปต่อไปยังสหรัฐฯ


 

รถยนต์จ่อหดเป้า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าสงครามการค้าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง และจะมีการนำเข้าที่ลดลง ซึ่งกลุ่มสินค้ายานยนต์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความตกลงหุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย หากญี่ปุ่นใช้ฐานผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นส่งออกไปออสเตรเลียเพิ่มขึ้น คงกระทบตัวเลขการส่งออกรถยนต์ไทยไปออสเตรเลียซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ไม่มากก็น้อย

“ทางกลุ่มยังคงเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ในปีนี้ที่ 1.10 ล้านคัน (จากปี 2561 ส่งออก 1.14 ล้านคัน) ซึ่งครึ่งปีหลังจะทบทวนเป้าใหม่ ส่วนกรณีที่สหรัฐฯเตรียมขึ้นภาษีรถยนต์จากสหภาพยุโรป(ล่าสุดเลื่อนออกไปอีก 6 เดือน) หากขึ้นจริงไทยคงกระทบไม่มาก เพราะไทยส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯสัดส่วนเพียง 2% ของการส่งออกในภาพรวม แต่ที่อาจกระทบมากกว่าคือชิ้นส่วนรถยนต์หากกฎใหม่ของความตกลง USMCA (นาฟต้าเดิม) กำหนดให้รถยนต์ที่จะได้รับประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงนี้ต้องใช้ชิ้นส่วน 75% ที่ผลิตในอเมริกาเหนือ ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯจะส่งออกได้ลดลง ขณะที่ตลาดจีนหากสินค้ารถยนต์จีนส่งออกได้ลดลง ไทยที่เป็นซัพพลายเชนชิ้นส่วนก็กระทบด้วย”

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เผยว่า ปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์อันดับ 1 ของไทย รองลงมาคือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ จากสงครามการค้าจะทำให้การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ลดลงหรือไม่นั้น ขึ้นกับค่ายรถยนต์จะส่งออกรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะปัจจุบันการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในภาพรวมของไทย เป็นการรับจ้างผลิต(OEM) ให้กับค่ายรถยนต์สัดส่วน 80% ส่วนอีก 20% เป็นชิ้นส่วนอะไหล่ทั่วไปที่แต่ละบริษัทจะส่งออกเองขึ้นกับความสามารถในการทำตลาด

 

อิเล็กฯลุ้นบวกครึ่งปีหลัง

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็ก ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า การตั้งกำแพงภาษีสินค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯเปรียบเหมือนยักษ์ไอทีกระทบไปทั้งโลก เพราะปัจจุบันห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกัน จากสงคราม การค้าที่ยังไม่มีความแน่นอน สินค้า อิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบเร็ว เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ 5 ที่คนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นโทรศัพท์ มือถือ อินเตอร์เน็ต โซเชียลต่างๆ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบ

ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคตื่นตระหนกก็จะหยุดหรือชะลอการบริโภคสินค้า ทำให้ผู้นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หยุด/ชะลอการนำเข้า โดยจะใช้สินค้าคงคลังในสต๊อกที่มีอยู่เดิมไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ อีกสักระยะก็จะกลับมาซื้อใหม่ ในครึ่งแรกปีนี้การส่งออกเครื่องอิเล็ก ทรอนิกส์ของไทยคาดยังติดลบ แต่เชื่อมั่นว่าในครึ่งปีหลังจะได้ออร์เดอร์เพิ่ม และทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ 3-5% โดย 30 บริษัทสมาชิก ส่งออกรวมกันเกิน 50% ของภาพรวม ยังมองไปในทิศทางเดียวกัน 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,471 วันที่ 19 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

รถยนต์-อิเล็กฯระทึก  ส่งออก2.4ล้านล.อ่วม