‘พญามังกร’ ดึงโลกล้อมสหรัฐฯ ดับอหังการ ‘ทรัมป์’

18 พฤษภาคม 2562

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3471 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค.2562 โดย... ณัฐพล หวังทรัพย์ (แทน)

 

‘พญามังกร’ ดึงโลกล้อมสหรัฐฯ

ดับอหังการ ‘ทรัมป์’

 

          ทั่วโลกกำลังระทึกกับปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังจากสหรัฐฯได้ตัดสินใจปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจากระดับ 10% เป็น 25% วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 แถมขู่ว่าจะเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเร็วๆนี้ ขณะที่จีนมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกตอบโต้กลับอย่างทันควันด้วยการเพิ่มการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ จาก 10% เป็น 20-25% มูลค่ารวมราว 6 หมื่นล้านดอลลารสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

          สถานการณ์ตอนนี้แม้หลายฝ่ายจะมองว่าจีนตกเป็นฝ่ายตั้งรับสหรัฐฯที่เปิดเกมถล่มจีนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อห้ามบริษัทอเมริกันใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทที่อาจสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงให้กับสหรัฐฯ รวมถึงเทคโนโลยีของบริษัท หัวเหว่ยฯ ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน

          แต่ถ้าดูความเคลื่อนไหวของจีนใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แทนที่จะยืนแลกหมัดกับสหรัฐฯแบบหมัดต่อหมัด กลับเลือกเดินเกมรุกดึงแนวร่วมทั่วโลกร่วมกดดันสหรัฐฯ มากกว่า สะท้อนจากการส่งหนังสือเรียกร้องให้องค์การการค้าโลก หรือ WTO เพิ่มความพยายามในการใช้ระบบการค้าพหุภาคี มาเป็นกลไกในการยุติความขัดแย้ง

จีนได้ระบุในข้อเสนอเชิงนโยบายที่ส่งถึงยัง WTO ว่า “ในฐานะเสาหลักของ WTO กลไกการยุติความขัดแย้งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่นให้กับระบบการค้าพหุภาคี”

          “การใช้ข้อยกเว้นด้านความปลอดภัยของประเทศในทางที่ผิด หรือมาตรการฝ่ายเดียวที่ไม่สอดคล้องกับกฎของ WTO รวมถึงการใช้มาตรการเยียวยาการค้าที่มีอยู่ในทางที่ผิด ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระเบียบการค้าสากลที่เปิดกว้าง มีอิสระ และยึดตามกฎระเบียบ”

          แม้ข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้ระบุโดยตรงถึงสหรัฐฯ แต่จีนเชื่อว่า การใช้นโยบายเพียงฝ่ายเดียวและการกีดกันการค้ามากยิ่งขึ้นได้ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อระบบพหุภาคีและการค้าเสรี

          นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จีนและสหรัฐฯ มีการยื่นฟ้องต่อ WTO แล้ว 7 กรณีพิพาท โดยจีนยื่นฟ้องสหรัฐฯ 5 กรณีพิพาท ประกอบด้วย

          1.การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (รอบที่ 1) ตามมาตรา 301

          2.การขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมตามมาตรา 232

          3.การใช้มาตรการปกป้องสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์

          4.มาตรการจูงใจให้ใช้สินค้าและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในสหรัฐฯ

          และ 5.การขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมกับสินค้าจากจีน (รอบที่ 2) ตามมาตรา 301

          ในขณะที่สหรัฐฯ ยื่นฟ้องจีน 2 กรณีข้อพิพาท ได้แก่

          1.การละเมิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

          2. การที่จีนขึ้นภาษีตอบโต้การขึ้นภาษีตามมาตรา 301 ของสหรัฐฯ

          ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาไม่ได้เปิดศึกการค้าเฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่มีข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ และส่วนใหญ่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป (อียู) แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น ก็มีปัญหาทางการค้ากับสหรัฐฯเช่นกัน

          ปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับสหรัฐฯ เกิดขึ้นในปี 2561 หลังจากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม อีทำให้อียูตัดสินใจตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าหลายชนิดของสหรัฐฯคิดเป็นวงเงินรวม 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้อียูยังมีข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯในเรื่องภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ล่าสุดสหรัฐฯเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากอียูจากกำหนดเดิมวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาออกไปอีก 6 เดือน หลังจากอียูขู่ใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มเติม

          ขณะที่แคนาดาและเม็กซิโก แม้จะเป็นพันธมิตรร่วมภาคีข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ หรือ นาฟต้า แต่ในปี 2561 รัฐบาลสหรัฐฯได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากแคนาดาและเม็กซิโกเพิ่ม 25% และ 10% ตามลำดับ

          ส่วนญี่ปุ่นและอังกฤษ สหรัฐฯเองก็กำลังพยายามเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับญี่ปุ่น เพื่อเปิดตลาดให้สินค้าเกษตรจากสหรัฐฯมีช่องทางเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ ที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับอัตราสูงขึ้น

          ข้อเสนอของจีนที่ให้ WTO ใช้กลไกพหุภาคีมายุติความขัดแย้ง จึงถือเป็นการเรียกร้องทางอ้อมให้ WTO ผู้ดูแลกติกาการค้าโลก ที่มีประเทศสมาชิก 164 ประเทศ เร่งเข้ามาจัดการข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อีกทั้งยังดึงแนวร่วมทั่วโลกที่ไม่เห็นด้วยกับการวางระเบียบการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามากดร่วมกดดันสหรัฐฯ ผ่านเวที WTO

          สอดรับกับท่าทีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เรียกร้องให้ประเทศเอเชียร่วมกันผนึกกำลังกันต่อต้านการกีดกันการค้า ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม ในเวทีการเจรจาอารยธรรมแห่งเอเชีย ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และผู้แทนรัฐบาลกว่า 2,000 คนในสาขาวัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว จากประเทศต่างๆ 50 ประเทศในเอเชีย

          “ประชาชนในเอเชียต่างต้องการให้เอเชียเปิดกว้างและเป็นหนึ่งเดียวกัน จีนจึงหวังว่า ประเทศต่างๆจะร่วมกันสร้างชุมชนแห่งเอเชียเพื่ออนาคตที่มีร่วมกันและเพื่อมวลมนุษยชาติ……ความพยายามที่จะเปลี่ยนโฉมความเจริญของประเทศอื่นและความคิดที่ว่า ความเจริญของตนเองเหนือกว่าประเทศอื่น เป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดนัก”

          เรียกได้ว่า เป็นวลีแหลมคมและเชือดเฉือน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง แถมยังตอกยํ้าให้เห็นถึงแนวทางการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยการดึงนานาประเทศเข้ามาเป็นแนวร่วม

          หมากเกมของจีนครั้งนี้ จะดับความอหังการ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีของสหรัฐฯได้หรือไม่ น่าติดตามอย่างยิ่ง