นักธุรกิจอีสานสุดมั่นใจ เศรษฐกิจ‘ไปต่อ’ไตรมาส2

20 พ.ค. 2562 | 00:10 น.

รายงาน : โต๊ะข่าวภูมิภาค

นักธุรกิจอีสานสุดมั่นใจ เศรษฐกิจ‘ไปต่อ’ไตรมาส2

ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เผยแพร่ “รายงานแนวโน้มธุรกิจ” ประจำไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม) ปี 2562 จากที่ทีมงานธปท.จากส่วนกลางและสำนักงานภาคอีก 3 แห่ง (เหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ) สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการสาขาต่างๆ รวมถึงสมาคม องค์กร หน่วยงานรัฐกว่า 800 แห่ง แลกเปลี่ยนมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้มถัดไป ทั้งในระดับภาพรวมและระดับธุรกิจ ที่ “โต๊ะข่าวภูมิภาค” ประมวลสาระสำคัญมาเสนอ ดังนี้

ใต้หนักสุด‘ยังไม่กระเตื้อง’

ครั้งนี้สำรวจจากผู้ประกอบการ 220 รายทั่วประเทศ สรุปมุมมองนักธุรกิจต่อภาพรวมประเทศได้ว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวเล็กน้อยเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะการค้า ภาคบริการ และภาคอสังหาริมทรัพย์-ก่อสร้าง ซึ่งผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์-ก่อสร้าง ตอบว่ารายได้ยังขยายตัวมากกว่าที่หดตัวถึง 30.0% จากการเร่งซื้อและการจัดโปรโมชัน และจากโครงการภาครัฐในกลุ่มก่อสร้าง ถัดมาคือภาคการค้า 21.4% จากการจับจ่ายซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และภาคบริการที่ 6.7% ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยว มีเพียงผู้ประกอบการในภาคการผลิตต่างๆ ที่ตอบว่ารายได้ลดลงมีสัดส่วนมากกว่าที่รายได้เพิ่มขึ้น 5.8% เป็นผลจากการหดตัวของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปาล์ม และยาง ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงแนวโน้มระยะถัดไป นักธุรกิจไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงสู่ระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) นี้

นักธุรกิจอีสานสุดมั่นใจ เศรษฐกิจ‘ไปต่อ’ไตรมาส2

เมื่อแยกเป็นรายภาค นักธุรกิจในภาคเหนือและภาคกลาง มองภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ภูมิภาคตนเองสอดคล้องกับภาพรวมทั้งประเทศ โดยเห็นว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเล็กน้อยในไตรมาส 1 แต่มองแนวโน้มไตรมาสถัดไปในทางชะลอตัวลงสู่ภาวะทรงตัว

ขณะที่นักธุรกิจในพื้นที่ภาคใต้มีมุมมองต่อเศรษฐกิจในทางลบมากกว่า โดยเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 1 อยู่ในภาวะทรงตัว และเชื่อว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกสู่ระดับหดตัวเล็กน้อย

มีเพียงนักธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีมุมมองต่อเศรษฐกิจดีที่สุด โดยมองภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคว่าอยู่ในภาวะขยายตัวเล็กน้อย และยังมีความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในพื้นที่ไตรมาสถัดไป (เมษายน-มิถุนายน) จะยังคง “ขยายตัวเล็กน้อย” ได้ต่อไป

ท่องเที่ยวดันธุรกิจเหนือ

รายงานแนวโน้มธุรกิจยังเจาะลึกรายภาคที่ชี้ว่า ภาวะธุรกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1 ปีนี้ ขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางเอง (FIT) ที่มีสัดส่วนถึง 70-80% ยอดใช้จ่ายต่อหัวเพิ่ม ส่งผลให้การใช้จ่ายในธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมและร้านอาหารขยายตัวดี แต่ทั้งนี้ธุรกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันช่วงปลายไตรมาส ด้านธุรกิจการผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวในบางหมวดสินค้า สำหรับการค้าขยายตัวเล็กน้อย จากธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ตามการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการขยายตัวของธุรกิจโลจิส ติกส์ ขณะที่ธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทรงตัว ด้านการลงทุนเอกชนยังจำกัดเฉพาะธุรกิจผลิตเพื่อการส่งออก ธุรกิจการค้าและท่องเที่ยว

ผู้ประกอบการภาคเหนือมองแนวโน้มยอดขายใกล้เคียงกับปีก่อน การท่องเที่ยวจะชะลอจากปัญหาหมอกควัน แต่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการจัดประชุมสัมมนาหน่วยงานรัฐ และการประชุมอาเซียน

อีสานมองบวกยังขยายตัว

ภาวะธุรกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 1 ขยายตัวเล็กน้อยจากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามธุรกิจการค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และรถยนต์ ธุรกิจผลิตเพื่อการส่งออก ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามภาวะภัยแล้งส่งผล กระทบต่อปริมาณผลผลิตและรายได้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อครัวเรือน

ส่วนแนวโน้มระยะถัดไป ผู้ประกอบการทุกธุรกิจมองว่ายังสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย โดยภาคการค้ายังได้รับปัจจัยบวกจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผลทางอ้อมจากกิจกรรมการ ท่องเที่ยวและกีฬาต่างๆ ภาคการผลิตเพื่อส่งออกจะได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์จะมีการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ตามเมืองหลัก โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง

‘กลาง’ห่วงการค้าโลกฉุด

ขณะที่ในภาคกลาง ภาวะธุรกิจไตรมาส 1 ปีนี้ ก็ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนในทุกภาคอุตสาหกรรม ยกเว้นการผลิตเพื่อการส่งออกที่หดตัว โดยการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้างได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ส่วนการจ้างงานยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานขั้นกลางถึงสูง

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่ามีแนวโน้มจะชะลอตัวลง โดยจับตาปัจจัยสำคัญคือ ความชัดเจนทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบายรัฐ ซึ่งเป็นตัวกำหนดความเชื่อมั่นการลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นความเสี่ยงของภาคการผลิตและส่งออก

เศรษฐกิจใต้‘ทรงตัว’

ขณะที่นักธุรกิจภาคใต้มีมุมมองต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ตนเองในทิศทางที่เป็นลบมากกว่านักธุรกิจในภาคอื่น โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมาอยู่ในภาวะทรงตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยภาคการค้าและอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเล็กน้อย จากกำลังซื้อผู้บริโภครายได้ปานกลางถึงสูงที่ยังดีต่อเนื่อง ภาคการค้าได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากมาตรการส่งเสริมภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตยังหดตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกไปจีน ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวยังทรงตัว แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายน้อยลง ตามภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชะลอตัวลง

เมื่อมองต่อในไตรมาส 2 นักธุรกิจภาคใต้มองแนวโน้มว่าจะยังคงทรงตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยธุรกิจการค้าและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มขยายตัว จากความต้องการในประเทศที่ยังเติบโตตามกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภครายได้ปานกลางถึงสูง และปัจจัยสนับสนุนจากโครงการภาครัฐ 

ทั้งนี้ยังต้องติดตามผลของมาตรการ LTV ที่จะมีผลบังคับใช้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดจะยังทรงตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่างประเทศ อย่างไรก็ตามภาคการผลิตมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,471 วันที่ 19 - 22 พฤษภาคม 2562

นักธุรกิจอีสานสุดมั่นใจ เศรษฐกิจ‘ไปต่อ’ไตรมาส2