ฐานะการคลัง ระเบิดเวลารัฐบาลใหม่

19 พฤษภาคม 2562

นับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 61 ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของไทย ที่เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2557-ปัจจุบัน หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะรู้ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย และในเดือนมิถุนายนจะ เห็นโฉมหน้าครม.ชุดใหม่ ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง

สิ่งที่บรรดานักธุรกิจและประชาชนทั่วไปกำลังรอดูหลังจากจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อย คือนโยบายที่คณะรัฐมนตรี คณะที่ 62 จะใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าของ 2 ประเทศมหาอำนาจ สหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผล กระทบโดยตรงต่อการส่งออก หัวจักรหลักเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงการลงทุน และการบริโภค ในขณะที่กำลังซื้อประชาชนระดับฐานรากก็ยังอ่อนแอ จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกตํ่า แถมหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

หลายคนคาดหวังให้รัฐบาลชุดใหม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผล กระทบจากสงครามการค้าและกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ ขณะที่กระทรวงการคลังเองก็ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าได้เตรียมวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไว้ให้รัฐบาลชุดใหม่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท

แม้การกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็นอย่างมากในระยะสั้น แต่ถ้าดูจากฐานะการเงินประเทศ จากรายงานการเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่กระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุมครม.รับทราบเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านการดำเนินนโยบายการคลังอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาสัดส่วนรายได้ตํ่ากว่ารายจ่ายที่นับวันจะยิ่งสูงมากขึ้น

ฐานะการคลัง  ระเบิดเวลารัฐบาลใหม่

สะท้อนจากฐานะการเงินแผ่นดินในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีรายได้รวม 2.606 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.68% เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดของรายได้ปีงบ ประมาณ 2561 พบว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมสูงถึง 2.345 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.73 แสนล้านบาท หรือ 7.99% แต่รายได้จากการนำส่งกำไรของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักอีกทางของรัฐบาลกลับลดลง 5.2 พันล้านบาท จากการนำส่งรายได้ที่ลดลงของ การยาสูบแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง แต่ที่น่าตกใจคือจากบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) รวมอยู่ด้วย

 

 

ส่วนรายจ่ายในปีงบประมาณ 2561 มีจำนวน 2.88 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะเพิ่มจากปีงบประมาณ 2560 เพียง 5.8 หมื่นล้านบาท หรือ 2.03% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากงบอุดหนุน และงบบุคลากร แต่เมื่อนำรายได้ที่จัดเก็บได้มาหักลบกับรายจ่ายแล้ว ส่งผลให้ปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีรายจ่ายตํ่ากว่ารายได้สุทธิ 3.22 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 สูงถึง 1.04 แสนล้านบาท หรือ 24.5%

ถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพแล้วว่าการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2561 สัดส่วนรายจ่ายเมื่อเทียบกับรายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเกือบสูงถึง 25% ทั้งๆ ที่ในปี 2561 เศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจที่ 3.7%

ฐานะการคลัง  ระเบิดเวลารัฐบาลใหม่

สอดคล้องกับรายงานฐานะการคลังในระยะปานกลาง 5 ปี 2561-2565 ของกระทรวงการคลัง พบว่า ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าฐานะการคลังของประเทศมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างของความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย กล่าวคืออัตราการเติบโตของการจัดเก็บรายได้จะน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของรายจ่าย โดยจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนในปีงบประมาณ 2564 ที่คาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จำนวน 2.773 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 ที่คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ 2.75 ล้านล้านบาท เพียง 2.3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ 2.886  ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.1%

ขณะที่รายจ่ายในปีงบ ประมาณ 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.2 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.1% และปี 2565 คาดว่าจะมีรายจ่าย 3.47 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2%

 

 

กระทรวงการคลังประเมินว่ารายจ่ายที่สูงกว่ารายได้ ทำให้ 3 ปี จากนี้รัฐบาลยังต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล คือต้องกู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือเรียกเป็นทางการว่าการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยคาดว่าปีงบประมาณ 2564 จะกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลกว่า 5.2 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 อีก 5.84 แสนล้านบาท ส่งผลให้หนี้ สาธารณะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก7.4 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 9.6-9.7 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2565

ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยมีหนังสือประกอบความเห็นการพิจารณารายงานฐานะการคลังระยะปานกลางต่อครม. และได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ พร้อมเตือนว่า ภาระการคลังที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความเสี่ยงจากภาระการคลังแอบแฝง รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเตรียมจัดทำงบประมาณสมดุลให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว เพื่อให้มีวงเงินเหลือสำหรับจัดทำนโยบายที่จำเป็นเพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเร่งปฏิรูปโครงสร้างรายได้และรายจ่าย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ควบคู่กับการลดรายจ่ายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณที่จะช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะรายจ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาทุนมนุษย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาทางการคลังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ มีผลมาจากการดำเนินนโยบายในลักษณะประชานิยม โดยเฉพาะการจัดสรรเงินอุดหนุนในนโยบายสวัสดิการสังคม และการปรับลดภาษีในหลายๆ ด้าน และเมื่อดูจากนโยบายที่พรรค การเมืองต่างๆ ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีนโยบายเข้าข่ายประชานิยมเยอะมาก ซึ่งแน่นอนว่านโยบายเหล่านี้จะยิ่งซํ้าเติมภาระการคลังของไทยให้ยํ่าแย่ลงไปอีก

หลังจากนี้ต้องวัดใจคณะรัฐมนตรี คณะที่ 62 ว่าจะถอดสลักหรือจะเร่งกดปุ่มระเบิดเวลาความเสี่ยงทางการคลังลูกนี้อย่างไร 

ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3471 ระหว่างวันที่ 19 - 22 พฤษภาคม 2562

ฐานะการคลัง  ระเบิดเวลารัฐบาลใหม่