ม.จุฬาฯ จัดเสวนา แนะทางออก 'ทีวีดิจิทัล'

16 พ.ค. 2562 | 16:26 น.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนา เรื่อง “ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิทัล” หลังทีวีดิจิทัล 7 ช่องได้ยื่นคำร้องขอคืนใบอนุญาตส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแวดวงสื่อ

 

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเสวนา เรื่อง “ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิทัล” โดยภายในงานได้วิเคราะห์สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในยุคที่มีการแข่งขันและการอยู่รอดของสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบัน ภายหลังจากที่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล 7 ช่องได้ยื่นคำร้องขอคืนใบอนุญาตกับกสทช.เพื่อขอยุติการออกอากาศทางทีวีดิจิทัล ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแวดวงสื่อเป็นจำนวนมาก

ม.จุฬาฯ จัดเสวนา แนะทางออก 'ทีวีดิจิทัล'

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยโครงการ CU Transformation และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและระบบโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ในอุตสาหกรรทีวีดิจิทัลมีบุคลากรทำงานอยู่จำนวนมาก อาทิ ผู้ผลิตคอนเทนต์ ขณะเดียวกันปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถทำคอนเทนต์ได้เองเนื่องจากดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก ส่งผลให้คนทั่วไปสามารถรับชมสื่อผ่านช่องทางไหน เวลาไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรับชมผ่านสื่อทีวีเท่านั้น  และหากทีวียังดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม อาจจะทำให้อนาคตอยู่ได้ยาก

ม.จุฬาฯ จัดเสวนา แนะทางออก 'ทีวีดิจิทัล'

ดังนั้นผู้ประกอบการควรกระจายคอนเทนต์ไปยังหลายแพลตฟอร์ม และคอนเทนต์ของช่องทีวีแต่ละช่องควรมีออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองเพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ ขณะที่ในด้านของกสทช.ควรมีมาตราการลดต้นทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ และนำงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุนคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

ม.จุฬาฯ จัดเสวนา แนะทางออก 'ทีวีดิจิทัล'

นางสาวสุภิญญา  กลางณรงค์ นักกิจกรรมสังคมด้านสื่อ และอดีตกรรมการกสทช. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมวิชาชีพสื่อขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรเอกชนอย่างมาก  ในขณะที่ประเทศอื่นเขาสนับสนุนบุคลากรการทำงานด้านนี้อย่างมาก ทั้งในรูปแบบของการศึกษาดูงาน หรืองานอบรมต่างๆ และเมื่อบุคลากรเหล่านี้ขาดการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้จะไม่เติบโตในอนาคต 

 

"ทางออกของเรื่องนี้คือการปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐบาล กสทช กระทรวงวัฒนธรรม อื่นๆแล้วนำงบมาสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศร่วมทุนผลิตรายการกับประเทศอื่นเพื่อนำไปขายยังประเทศต่างๆ  เพราะหากไม่ปรับและพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจังสุดท้ายภาควิชาวารสารศาตร์จะหายไปในเร็ววัน"

ม.จุฬาฯ จัดเสวนา แนะทางออก 'ทีวีดิจิทัล'

นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจากการสำรวจพฤติกรรมผู้อ่านบนคอนเทนต์ออนไลน์ส่วนใหญ่จะเลือกหาคอนเทนต์ที่หาอ่านได้ยาก  ดังนั้นผู้ประกอบการต้องทำคอนเทนต์ที่ลึก ชัดเจน หรือสร้างความแตกต่าง ควรคำนึงถึงความต้องการของแต่ละแพลตฟอร์มว่าผู้อ่านแต่ละแพลตฟอร์มต้องการอะไร  อีกทั้งในอนาคตเชื่อว่าทีวีดิจิทัลจะยังไม่ตายแต่จะเดินหน้าไปในรูปแบบทีวีดิจิทัล และโฮมช้อปปิ้งไปพร้อมกัน แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญคือการสร้างกลุ่มผู้ชมของตัวเองให้ชัด และแบ่งสัดส่วนคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และการขายของให้อยู่ในความพอดี

ม.จุฬาฯ จัดเสวนา แนะทางออก 'ทีวีดิจิทัล'

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา เปิดเผยว่า วันนี้เราควรมองอุตสาหกรรมทีวี หรืออุตสาหกรรมวิทยุก็ตาม กสทช.ต้องทำสื่อโทรทัศน์สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ สร้างสื่อที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์สังคม  และสื่อทีวีเป็นสื่อสาธารณะดังนั้นผลประโยชน์ควรเอื้อกับประชาชนมาเป็นลำดับแรก  แม้ว่าดิจิทัลจะมา  แต่สื่อโทรทัศน์ยังต้องอยู่เพราะสื่อนี้เป็นสื่อที่สร้างความเท่าเทียม