เอ็นไอเอผนึก มศว. เปิดตัวหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมแห่งใหม่

16 พ.ค. 2562 | 11:02 น.

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน (มศว.) เดินหน้าขยายเครือข่ายความร่วมมือในการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit: SID) แห่งใหม่ เพื่อบ่มเพาะแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจ ด้วยการจัดกิจกรรมอบรม และการให้คำปรึกษาในเชิงบูรณาการ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพด้านแผนธุรกิจ และแนวคิดทางด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ที่ผ่านมา NIA มีการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม มาแล้ว 7 แห่ง อาทิ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.ธรรมศาสตร์   พร้อมเปิดตัวโครงการประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Business Plan Contest 2019) ครั้งที่ 3 ชวนผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสังคม นำเสนอแนวคิดใหม่/วิธีการใหม่ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาของสังคม ภายใต้ ชิงเงินรางวัลรวม 300,000 บาท 

เอ็นไอเอผนึก มศว. เปิดตัวหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมแห่งใหม่

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า   NIA และ มศว. ได้ร่วมกันจัดโครงการประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้แก้ปัญหาทางสังคม สำหรับในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยมีการเพิ่มกรอบความร่วมมือเพิ่มเติมคือ การจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit: SID) เป็นแห่งใหม่ ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มศว. เพื่อบ่มเพาะแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจ ด้วยการจัดกิจกรรมอบรม และการให้คำปรึกษาในเชิงบูรณาการ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพด้านแผนธุรกิจ และแนวคิดทางด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมให้กับผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ให้สามารถสร้างเป็นธุรกิจ ที่จะเกิดเกิดมูลค่าใหม่ทางเศรษฐกิจและมีความยั่งยืนควบคู่กัน

 

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ได้ริเริ่มและดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อสร้างความสามารถทางนวัตกรรมของสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการสร้างธุรกิจนวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชิงสังคม โดยมุ่งหวังให้เกิดการแก้ปัญหาทางสังคม รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น ผ่านกลไกการสนับสนุนของสำนักงานฯ ที่พัฒนาขึ้นร่วมกับเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้มีการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม มาแล้วในหลายพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท ไรซ์ อิมแพค จำกัด และ บริษัท แฮนอัพ เน็ทเวิร์ค จำกัด สำหรับการขยายเครือข่ายความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญ เนื่องจากคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มศว. นั้นถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยเฉพาะด้านการบ่มเพาะแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ บุคคลากร และฐานข้อมูลของผู้ประกอบการระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจได้มีโอกาสจัดตั้งดำเนินธุรกิจ และขยายธรุกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ในโอกาสครบรอบขวบปีที่ 10 ของการเป็นองค์การมหาชน NIA มุ่งเดินหน้าสู่การเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัท องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศ ผ่านกลไกและการประสานงานให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในฐานะผู้ประสานระบบ (System Integrator) เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการได้รับการสนับสนุนให้กับเยาวชน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้สนใจการพัฒนานวัตกรรมทุกระดับ นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ INNOVATION NATION หรือประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ

เอ็นไอเอผนึก มศว. เปิดตัวหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมแห่งใหม่

ด้าน รองศาสตรจารย์ ดร. สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า สำหรับโครงการประกวดแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Business Plan Contest 2019) ครั้งที่ 3 เปิดรับผู้ที่มีความมุ่งมั่น พร้อมนำความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมทางสังคม สามารถส่งแผนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมเข้าร่วมประกวดได้ โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักเรียน   ประเภทอุดมศึกษา  และประเภทบุคคลทั่วไป และโครงการที่เข้าร่วมประกวดมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต่อไป ซึ่งเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากความเป็นนวัตกรรมในรูปแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต หรือการดำเนินงานรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มีผลกระทบทางสังคมอย่างชัดเจน และมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ตาม มศว. มีความยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ NIA เนื่องจาก NIA เป็นองค์กรที่มีพันธกิจในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในภาคการผลิต ภาครัฐ และภาคสังคมโดยรวมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม