นักการเมืองต้องเอื้อเฟื้อชาติ

16 พ.ค. 2562 | 11:03 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3470 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค.2562

 

นักการเมือง

ต้องเอื้อเฟื้อชาติ

 

          ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ทั้งความราบรื่นของการกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย หลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่นักการเมืองกำลังจับขั้้วขับเคี่ยวกันอยู่ ด้วยวาทกรรมแบ่งแยก “ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายเผด็จการ”

          ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจก็บีบรัดหนักหน่วงยิ่งขึ้น ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนอีกระลอกทำให้ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้อ่อนแรงกระทั่งรัฐบาลต้องอัดฉีดงบกว่า 13,200 หมื่นล้านบาทออกนโยบายประคองเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อประชาชนผ่านกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม

          ล่าสุดพายุเศรษฐกิจยิ่งทวีกำลัง เมื่อสหรัฐฯ-จีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจา สหรัฐฯสั่งขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็น 25% จีนก็ตอบโต้ทันควันในอัตราเดียวกัน ท่ามกลางความวิตกว่าจะลามต่อ ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ โดยคาดกันว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะยิ่งชะลอตัวลงไปอีก

          สถานการณ์ที่รุมเร้าอยู่นี้ แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังมีอำนาจเต็มตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และจะส่งไม้ต่อหลังจากรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้ารับหน้าที่ แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลช่วงรอยต่อเช่นนี้ก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มมือ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีการอนุมัติโครงการลงทุนใหญ่ของรัฐเพิ่มเติมอีกเลยนับแต่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ขณะที่เอกชนหรือนักลงทุนต่างชะลอแผนลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของรัฐบาลใหม่

          นอกจากนี้วาระสำคัญประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ที่รออยู่คือ กำหนดจัดการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 นี้ ซึ่งเป็นที่จับตาทั่วโลกว่าไทยจะจัดการประชุมครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งหรือไม่ จากที่ครั้งก่อนล่มกลางคันหลังถูกผู้ชุมนุมบุกที่ประชุม

          การจัดตั้งรัฐบาลเริ่มคืบหน้ายิ่งขึ้น เมื่อ 11 พรรคเล็กจับมือสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เป็นแกนนำจัดตั้ง ทำให้ขั้วนี้มีเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯแล้ว 126 เสียง หากรวมกับ 250 เสียงของส.ว.เป็น 376 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่ใช้โหวตหานายกฯ เอาชนะยุทธศาสตร์ “ปิดสวิตช์ส.ว.” ที่พรรคอนาคตใหม่และพันธมิตรผลักดัน              

          การจับกลุ่มแบ่งขั้วแข่งขันทางการเมืองเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองสามารถกระทำได้ แต่ต้องเคลื่อนไหวในกรอบ และระวังมิให้ความขัดแย้งขยายวงจนเข้าสู่ทางตัน เพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ตามกระบวนการและขั้นตอนที่เหมาะสมทันกาล โดยคำนึงประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ตนหรือพรรค เพื่อเราจะได้ไม่ตกจากถนนประชาธิปไตยกันอีก