ถอดบทเรียน‘ทีวีดิจิทัล’อวสานช่องเด็ก รัฐ-เอกชนอ่านเกมไม่ขาด

17 พ.ค. 2562 | 03:03 น.

อวสาน “ช่องเด็ก” กรณีศึกษาบทใหม่กับความผิดพลาดทั้งระบบทีวีดิจิทัลเมืองไทย นักวิชาการยํ้าการตลาดเป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐควรทำความเข้าใจ ขณะที่ภาคเอกชนมองเกมไม่ขาด ด้านประธานสมาคมโฆษณาเผยเอเยนซีทำงานง่ายขึ้น แต่แข่งขันยังดุเดือดรุนแรง

หลังจากที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง ได้แก่ ไบรท์ ทีวี, สปริงนิวส์, สปริง 26, วอยซ์ ทีวี, MCOT Family, ช่อง 3 แฟมิลี่ และช่อง 3 เอสดี ยื่นขอใบอนุญาตประกอบทีวีดิจิทัลต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกิด 2 ปรากฏการณ์ที่สังคมให้ความสนใจ คือ การปิดฉากของทีวีดิจิทัลช่องเด็ก ซึ่งเดิมมีอยู่ 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 แฟมิลี่ (หรือช่อง 13) ช่อง MCOT Family และโลก้า (ปิดไปก่อนหน้านี้) เมื่อ 2 ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ต่างพร้อมใจกันยื่นขอคืนใบอนุญาตฯ และเมื่อตกผลึกแล้วในไตรมาส 4 ของปีนี้จะเหลือทีวีดิจิทัลทั้งสิ้น 15 ช่องเท่านั้น

โดยดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวถึง การอวสานของทีวีดิจิทัลช่องเด็ก กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความล้มเหลวของทีวีดิจิทัลหมวดหมู่ช่องเด็ก เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัยเริ่มตั้งแต่ผู้ควบคุม นักออกแบบที่เกี่ยวข้อง หรือ Regulator ได้แก่ กสทช. นักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ ที่ออกแบบโมเดลนี้ขึ้นจากอุดมคติของผู้เกี่ยวข้อง แต่ขาดการมองด้านการตลาด รวมทั้งไม่สำรวจและศึกษาพฤติกรรมผู้ชมผ่านโลกที่แท้จริง

“จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมนี้ควรใช้การตลาดนำทาง ไม่ใช่จากอุดมคติที่ตั้งสมมติฐานขึ้น ซึ่งงานนี้ไม่โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ควรกล่าวโทษเฉพาะภาครัฐ เพราะธุรกิจทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นได้มาจากหลายฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็น และลงมติร่วมกันมาก่อนจะเกิดการประมูล ดังนั้นหากจะกล่าวโทษใคร ควรกล่าวโทษทุกฝ่าย รวมถึงผู้ประกอบการในภาคเอกชนด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งการที่ช่องเด็กที่หายไปทั้งหมดนี้ขอเรียกว่าความล้มเหลวของอุดมคติที่เกิดขึ้น”

ถอดบทเรียน‘ทีวีดิจิทัล’อวสานช่องเด็ก รัฐ-เอกชนอ่านเกมไม่ขาด

เมื่อย้อนไปในอดีต ผู้ร่วมออกแบบทีวีดิจิทัลทุกฝ่ายตั้งช่องนี้ขึ้นมาโดยหวังให้เป็นช่องที่พัฒนาเยาวชน เด็ก และกลุ่มครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปช่องนี้ไม่สามารถทำกำไร หรือรายได้เป็นไปตามที่คาดหมาย ทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะทิ้งช่องนี้เป็นลำดับแรก ทั้งที่ในความเป็นจริงก่อนการประมูลผู้ประกอบกิจการหลายช่องเชื่อว่าจะสามารถทำรายได้ให้ช่องนี้ไม่ต่างจากช่องการ์ตูนทีวีดาวเทียมที่ได้รับความนิยม รวมถึงจะมีรายได้จากโฆษณากลุ่มผลิตภัณฑ์ขนม นม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องเข้ามา แต่ลืมคิดไปว่าในความเป็นจริงงบการตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ส่วนใหญ่ไปอยู่กับการนำไปใช้จัดกิจกรรม หรืออีเวนต์ ตามสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รองลงมาไปอยู่กับสื่อออนไลน์ และสื่อทีวีเป็นอันดับสุดท้าย

“การทำช่องเด็กในช่วงแรกอาจดูเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่ไปซื้อไลเซนส์คอนเทนต์การ์ตูน หรือรายการอื่นๆ มาไว้ในช่อง ก็อาจทำให้มีรายได้ แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการต้องเข้าใจก่อนว่าช่องเด็กคือช่องที่มีไว้เพื่อเด็กและเยาวชน ดังนั้นคอนเทนต์ก็ควรผลิตเพื่อเด็กเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมามีรายการเด็กในประเทศไทยที่น่าสนใจจำนวนมากแต่ยังขาดการสนับสนุนที่ดี”

 

ทั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่มุมของเอกชนเท่านั้นแต่ในแง่ของภาครัฐ ก็ขาดความเข้าใจด้านการออกแบบช่องทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องของจำนวนช่องที่มีจำนวนมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงกสทช.และ Regulator สามารถแบ่ง Time Slot ของช่องได้ ว่าช่องทีวีควรมีสัดส่วนข่าวเท่าไร หรือรายการเพื่อเด็กและเยาวชนเท่าไรในช่อง รวมทั้งกสทช.ยังขาดแรงจูงใจด้านผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบกิจการที่อยากทำช่องดีๆเพื่อสังคมอย่างช่องเด็ก เช่น การลดภาษี การช่วยแบ่งเบาภาระต่างๆ เป็นต้น

ถอดบทเรียน‘ทีวีดิจิทัล’อวสานช่องเด็ก รัฐ-เอกชนอ่านเกมไม่ขาด

ด้านนายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การคืนไลเซนส์ที่เกิดขึ้นทำให้จำนวนช่องทีวีเหลือน้อยลง พร้อมทั้งผู้ประกอบกิจการที่เหลืออยู่จะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของคอนเทนต์เพื่อหวังเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ชมช่องตัวเองให้ชัด ดังนั้นหลังจากนี้จะเห็นอุตสาหกรรมทีวีผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะที่ในแง่ของกลุ่มเอเยนซีก็จะทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น

“5 ปีที่ผ่านมาช่องทีวีดิจิทัลมีจำนวนมาก ทำให้กลุ่มเอเยนซีไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดว่าจะเลือกใช้จ่ายเงินกับช่องใดบ้าง ส่งผลให้งบโฆษณากระจายตัว แต่หลังจากนี้นักโฆษณาจะตัดสินใจทำงานได้ง่ายขึ้น และการตัดสินใจที่จะใช้เงินกับช่องทีวีคงจะหนีไม่พ้นช่องทีวีที่มีคาแรกเตอร์ รวมถึงมีกลุ่มผู้ชมของตัวเองที่ชัดเจน”

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3470 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2562

ถอดบทเรียน‘ทีวีดิจิทัล’อวสานช่องเด็ก รัฐ-เอกชนอ่านเกมไม่ขาด