สงครามการค้ารอบใหม่ ทุบส่งออกไทย 2 แสนล้าน

14 พ.ค. 2562 | 11:10 น.

พาณิชย์เตรียมเชิญนักลงทุน-ผู้ประกอบการ 2 กลุ่มสินค้าใหญ่ “อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์”หารือหลังได้รับผลกระทบหนักสุดจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนรอบใหม่  ก่อนสรุปเพื่อปรับลดเป้าส่งออกปลายเดือนนี้ เบื้องต้นคาดกระทบส่งออกไทยวูบกว่า 2 แสนล้าน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยถึงกรณีการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 10% เป็น 25% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ตอบโต้มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงฯ เชิญกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วนมาหารือเบื้องต้นก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีรองนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานการประชุมก่อนที่จะมีการประชุมหารือกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อปรับลดเป้าหมายส่งออกต่อไป

สงครามการค้ารอบใหม่ ทุบส่งออกไทย 2 แสนล้าน

                                            

อย่างไรก็ตามสนค.ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นในส่วนของการขึ้นภาษีของสหรัฐฯที่ครอบคลุมสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่าอาจทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5,600-6,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(1.79-2.14 แสนล้านบาท คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์)  เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ประมาณ 46 % โดยตัวเลขดังกล่าว คำนวณจากทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน การส่งออกไปจีน และการส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีนไปยังตลาดอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม

สำหรับกลุ่มสินค้ายานยนต์ อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการ safeguard ภายใต้มาตรา 232 (ความมั่นคง) ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะประกาศวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ รวมทั้งจากความตกลง USMCA ที่มาแทน NAFTA จะมีผลใช้บังคับในต้นปี 2563 โดยกำหนดเงื่อนไข local content เข้มงวดขึ้น จาก 60.62.5% เป็น 75% อาจจะต้องมีการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยหาทางทำ Joint Venture หรือลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสหรัฐฯ หรือเม็กซิโก อยู่แล้ว เพื่อรักษาสัดส่วนในตลาดไว้

 สำหรับรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มเติมเมื่อคืนวันที่ 13 พฤษภาคม และรายการสินค้าที่จีนได้ประกาศตอบโต้สหรัฐฯ แล้วนั้น สนค. กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่า มีรายการใดที่ไทยสามารถแสวงหาโอกาสในการส่งออกเพิ่มได้ โดยเฉพาะมีสินค้าเกษตรอยู่หลายรายการเพื่อรับมือกับการส่งออกที่อาจจะลดลง   ทั้งนี้สนค. ได้วิเคราะห์รายการสินค้าในรายละเอียด พบว่า ไทยมีสินค้าหลายตัวที่การส่งออกขยายตัวได้น่าพอใจ เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้หลายชนิด เครื่องดื่มหลายประเภท ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มสินค้านี้แม้จะมีมูลค่าน้อย ไม่อาจชดเชยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรมได้ทั้งหมด แต่การส่งออกสินค้าเหล่านี้ จะมีผลในทางจิตวิทยาต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากมีผลต่อรายได้ของภาคเกษตรและเอสเอ็มอีจึงควรเร่งผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น สำหรับสินค้ากลุ่มที่การส่งออกอาจลดลงมาก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยนักลงทุนต่างชาติและไทยขนาดใหญ่อาจจะต้องใช้มาตรการลงทุนเป็นเครื่องมือสนับสนุนโดยดึงดูดให้นักลงทุนจากทุกประเทศรวมทั้งจีนมาลงทุนใน EEC มากขึ้น แต่ต้องเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ผลิตสินค้ารุ่นเก่า รวมทั้งอาจขอให้เร่งขยายการลงทุนและ production capacity ในไทยมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และให้หาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และประเทศอื่นทดแทนการพึ่งตลาดจีน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการกระจายตลาดดังกล่าวอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ผลกระทบจากสงครามการค้าไม่ได้กระทบไทยเพียงประเทศเดียว แต่ส่งผลไปทั่วโลก อาจทำให้ปริมาณการค้าโลกหดตัว รวมทั้งส่งผลต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และราคาน้ำมัน การขึ้นภาษีตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเช่นไทย โดยรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์มิได้นิ่งนอนใจได้เตรียมแนวทางการรับมือไว้โดย นางสาวชุติมา บุณยประภัศรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ได้สั่งการให้กรมต่าง ๆ เตรียมพร้อม เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ทำแผนรุกตลาดในสินค้าศักยภาพลงลึก และเร่งการพัฒนาการส่งออกผ่านออนไลน์ (e-commerce) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมข้อมูลเรื่อง non-tariff measures ที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ควรเร่งเจรจา กรมการค้าต่างประเทศเตรียมมาตรการการค้าชายแดนและการขายข้าว และ สนค. เสนอแนวทางรับมือระยะสั้นและยุทธศาสตร์ระยะกลาง

สงครามการค้ารอบใหม่ ทุบส่งออกไทย 2 แสนล้าน

 ทั้งนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กำลังจะเดินทางไปอินเดียเพื่อหาลู่ทางการขยายการส่งออกปาล์มน้ำมันเพิ่มเติม โดยอินเดียเป็นตลาดหนึ่งที่จะเพิ่มความสำคัญขึ้น จำเป็นต้องให้ผู้แทนระดับสูงไปกระชับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเป็นยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่แต่สำหรับเรื่องการเจรจา FTA กับประเทศต่าง ๆ จะต้องรอรัฐบาลใหม่

 “ สงครามการค้าครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่สหรัฐฯ และจีนที่เจ็บตัวกัน แต่ผลกระทบกระจายไปทั่วโลก เจ็บตัวกันไปไม่มากก็น้อย ซึ่งไม่เป็นการดีกับการค้าโลกที่ยังเปราะบางอยู่ สนค. มองว่าความขัดแย้งของสองประเทศ มีรากเหง้าลึกกว่าเรื่องของการค้า เป็นการแข่งขันกันในด้านเทคโนโลยีและการมีอิทธิพลในทวีปเอเชียด้วย จึงอาจจะเป็นหนังเรื่องยาว ในส่วนของไทยแม้ว่าอาจจะทำให้การส่งออกลดลงบ้างในปีนี้ แต่ท่ามกลางปัญหา ก็ยังเห็นโอกาสอยู่หลายจุด เพราะเศรษฐกิจไทยและการส่งออกไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง สินค้าไทยหลายตัวมีมาตรฐานสูงและมีชื่อเสียงในตลาดโลก ขณะนี้เป็นโอกาสที่เราจะนำสินค้าไทยแทรกเข้าไปในหลาย ๆ ตลาด แม้ว่าระยะสั้นอาจจะต้องมีผลกระทบแรงต่อการส่งออก แต่มั่นใจว่า ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็จะรับมือได้อย่างแน่นอน”

 

สำหรับเรื่องที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งว่าไทยอาจะเข้าข่ายเป็นประเทศที่เป็น currency manipulator หรือบิดเบือนค่าเงินบาทนั้น จากข้อมูลการส่งออกไปสหรัฐฯ ของฝ่ายไทย พบว่าแม้จะสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่เห็นว่าสูงผิดปกติจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ตรงกันข้าม เงินบาทไทยค่อนข้างแข็งมากเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เองก็ยังได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการให้เร่งนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร และให้มีประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมาโดยตลอด