ชำแหละ แนวรบ‘ทรัมป์’ ป่วนโลก

16 พ.ค. 2562 | 07:30 น.

สหรัฐอเมริกาไม่ได้เปิดศึกการค้าเฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่ยิ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของสหรัฐฯใกล้เข้ามา (กำหนดการเลือกตั้งมีขึ้นในปีหน้า) ซึ่งเป็นวาระที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะต้องพยายามรักษาตำแหน่งเอาไว้ให้ได้อีกสมัย ก็ดูเหมือนว่าความพยายามชำระสะสางและรื้อข้อตกลงการค้าเพื่อวางระเบียบใหม่ให้สหรัฐฯได้ประโยชน์หรือไม่ถูกเอาเปรียบ ก็ยิ่งจะเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

 

ในช่วงเวลานี้ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งชูนโยบายช่วงหาเสียงในปี 2559 ว่า เขาจะขจัดพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมและแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าให้กับประเทศ กำลังเดินหน้าสร้างผลงาน และจีนก็เป็นเพียงหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ กำลังปรับสมดุลการค้าด้วย นอกเหนือจากจีนแล้ว ยังมีแคนาดาและเม็กซิโก รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น รวมทั้งอังกฤษ ลองมาดูว่า แต่ละคู่ค้ามีข้อพิพาทที่จะต้องสะสาง หาทางออก กับสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรกันบ้าง

ชำแหละ แนวรบ‘ทรัมป์’ ป่วนโลก

 

จีน

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนปล่อยหมัดหนักสวนสหรัฐฯที่ขึ้นภาษีสินค้าจีนไปก่อนแล้วจาก 10% เป็น 25% คิดเป็นวงเงินถึง 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 โดยการตอบโต้ของจีนนั้นคือการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ระหว่าง 20-25% จากเดิม 10% คิดเป็นมูลค่ารวมราว 60,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.98 ล้านล้านบาท มีผลในวันที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้

 

ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีใส่กันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2561) โดยนับถึงปัจจุบัน ฝ่ายสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 250,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 110,000 ล้านดอลลาร์ มีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์จะยํ่าแย่ไปกว่านี้เนื่องจากล่าสุด จีนได้ตอกกลับการคุกคามของสหรัฐฯไปแล้ว ซึ่งหมายความว่า ผู้นำสหรัฐฯอาจจะตัดสินใจเร่งมือขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มสุดท้ายมูลค่าวงเงิน 325,000 ล้านดอลลาร์ ในเร็ววัน ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภคที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีนเกือบจะทุกรายการ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผู้นำสหรัฐฯเล็งเป้าว่าจะสามารถกดดันให้จีนเร่งบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ แต่ในทางกลับกัน หากการเจรจาไม่ลงตัวและการเผชิญหน้าทางการค้ายืดเยื้อออกไป ความเสียหายของทั้ง 2 ฝ่ายก็จะขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงกลุ่มเกษตรกรของสหรัฐฯที่เป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทรัมป์ออกมาให้ความหวังอีกครั้งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ว่า เขาจะพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในการประชุมกลุ่ม G20 ที่ญี่ปุ่นปลายเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่นายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลังก็ออกมายืนยันว่า การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯยังคงดำเนินต่อไป

 

แคนาดาและเม็กซิโก

ปี 2561 รัฐบาลสหรัฐฯตัดสินใจเก็บภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมนำเข้าเพิ่มขึ้น 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นแม้กับแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมภาคีข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ หรือ นาฟต้า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แคนาดาและเม็กซิโก ขึ้นภาษีสินค้าอเมริกันหลายรายการเป็นการตอบโต้ โดยฝ่ายแคนาดานั้น เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าวงเงินรวมกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนั้นมีสินค้ากลุ่มวิสกี้ และนํ้าเชื่อมเมเปิล ขณะที่เม็กซิโก ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันมูลค่ารวม 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มว่าจะนำมาตรการลักษณะเดียวกันนี้มาใช้อีกในอนาคต เพื่อเป็นการกดดันให้สหรัฐฯยกเลิกการขึ้นภาษีเหล็กกล้า

ชำแหละ แนวรบ‘ทรัมป์’ ป่วนโลก

ด้านข้อตกลงการค้าเสรีนาฟต้า ซึ่งมีการเจรจาปรับแก้ไข และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ข้อตกลงสหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดา (United States Mexico Canada Agreement: USMCA) ยังคงรอการพิจารณาและให้สัตยาบันโดยรัฐสภาสหรัฐฯ หลายฝ่ายต้องการให้ประธานาธิบดีทรัมป์ยกเลิกภาษีที่ถูกปรับขึ้นไปแล้วให้แก่แคนาดาและเม็กซิโกก่อนที่รัฐสภาจะให้การรับรองข้อตกลงดังกล่าว (ซึ่งมีการปรับแก้ไข) แต่จนถึงขณะนี้ ผู้นำสหรัฐฯยังไม่แสดงท่าทีใดๆว่าจะยอมยกเลิกการขึ้นภาษีตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง

สหภาพยุโรป (อียู)

ในปี 2561 เช่นกัน เมื่อสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม อียูเป็นคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทำให้อียูตัดสินใจตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าหลายชนิดของสหรัฐฯคิดเป็นวงเงินรวม 2,400 ล้านดอลลาร์

ชำแหละ แนวรบ‘ทรัมป์’ ป่วนโลก

ส่วนปีนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์มีกำหนดตัดสินใจภายในวันที่ 18 พฤษภาคม ว่าจะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากอียูหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการปรับขึ้น ตลาดรถของอียูที่เข้าไปตีตลาดสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่า 53,000 ล้านดอลลาร์ ก็จะได้รับแรงกระทบ นางเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการยุโรปฝ่ายการค้า เชื่อว่า ผู้นำสหรัฐฯอาจจะเลื่อนกำหนดการตัดสินใจในเรื่องนี้ออกไปก่อน เพื่อทุ่มความสนใจให้กับการเจรจาทำข้อตกลงการค้ากับจีนให้ได้ อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจริงๆ ตามที่ขู่ไว้ อียูก็จะใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มเติมอย่างแน่นอน

 

ญี่ปุ่นและอังกฤษ

ขณะที่กำลังเปิดศึกการค้ากับหลายประเทศ สหรัฐฯกำลังพยายามเจรจาทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับญี่ปุ่น เพื่อเปิดตลาดให้สินค้าเกษตรจากสหรัฐฯมีช่องทางเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น และญี่ปุ่นเอง ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ ที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับอัตราสูงขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯยังพยายามเจรจาทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีฉบับใหม่กับอังกฤษ ที่กำลังจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป มีความเป็นไปได้สูงว่า ผู้นำสหรัฐฯจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกับผู้นำอังกฤษ ในระหว่างการเดินทางเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3470 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2562

ชำแหละ แนวรบ‘ทรัมป์’ ป่วนโลก