ทิศทางยานยนต์ไทย'อีโคอีวี'รอลุ้น

18 พ.ค. 2562 | 14:00 น.

ในยุคที่ยานยนต์สมัยใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังก้าวเข้ามามีบทบาทในโลก ส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตอันดับที่ 11 ของโลกต้องมีการเตรียมแผนรับมือเพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ทิศทางการปรับตัวของไทยที่เห็นในตอนนี้คือการสนับสนุนจากภาครัฐที่เปิดโอกาสให้บริษัทรถยนต์เข้าร่วมในโครงการยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีผู้ผลิตยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 12 รายโดยพี่ใหญ่ ที่เริ่มเดินหน้าและเพิ่งประกาศความพร้อมรายล่าสุดคือโตโยต้า ที่เปิดสายการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด ณ โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า เกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะผลิตแบตเตอรี่ไฮบริดสำหรับใช้ในรถยนต์รุ่น C-HR, Camry Hybrid และรถยนต์ไฮบริดรุ่นอื่นๆ ของโตโยต้าในอนาคต 

นอกจากนั้นแล้วโตโยต้ายังเตรียมแผนงานในอนาคตเกี่ยวกับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ไฮบริดที่ใช้แล้วให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ “การจัดการแบตเตอรี่ไฮบริดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (3R Scheme)” ในรูปแบบของการ Rebuilt Reuse และ Recycle

ถือเป็นการขยับตัวจากฝั่งผู้ผลิตรายใหญ่อย่างโตโยต้า ขณะที่อีกหนึ่งโครงการจากภาครัฐที่พยายามผลักและดันเพื่อช่วยให้เกิดคือ อีโคอีวีนั้น นายดุสิต อนันตรักษ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่าความคืบหน้าของอีโคอีวี ต้องรอความชัดเจนของรัฐบาล ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือไม่อย่างไร โดยทุกอย่างต้องรอรัฐบาลใหม่ก่อน หลังจากนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีการนำเสนอข้อมูลเข้าไปให้พิจารณาอีกรอบ

 

“ตลาดส่งออกของเราเท่าเดิมมา 4-5ปีแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการโดนคู่แข่งแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไป ดังนั้นเราจึงมาทบทวนว่าผลิตภัณฑ์ของเราเองล้าสมัยหรือเปล่า หรือว่าเป็นเพราะเหตุใดถึงโดนแย่งตลาดไป ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนอีโคอีวี ส่วนอีกสาเหตุที่ต้องเป็นอีโคอีวีนั้น เนื่องจาก ตลาดอีโคคาร์มีสัดส่วนมากกว่า 52% ของตลาดรถยนต์นั่งทั้งหมด ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตสูง”

ทิศทางยานยนต์ไทย'อีโคอีวี'รอลุ้น

ด้านความพร้อมของฝั่งสถานีชาร์จไฟ ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวเสริมว่า ในตอนนี้มีทั้งเอกชน และหน่วยงานรัฐเริ่มขยาย ปัจจุบันมีประมาณ 200 แห่ง แต่หากนับเป็นหัวจ่ายมีมากกว่า 400 -​500 หัวจ่ายที่กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่

ขณะที่ภาพรวมรถยนต์​ไฟฟ้า​ในปี 2562 -2563  จะเริ่มเติบโต​ต่อเนื่ิิอง เพราะมีจำนวนรุ่นรถเพิ่มขึ้น จากเดิมในปี 2561 มีประมาณ 5 รุ่น แต่ตอนนี้มีกว่า 9 รุ่น ส่วนราคาเริ่มต้นรถยนต์​ไฟฟ้า​ตอนนี้เริ่มลดลง ยกตัวอย่างฟอมม์ 6 แสนบาท
ห​รือ ไมน์ ราคาล้านต้นๆ

“ในช่วงแรกควรกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัตราพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลายขึ้นซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้รถได้โดยเร็ว”

ส่วนฟากฝั่งผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่หลายคนกังวลใจ เพราะจากเดิมในการผลิตรถยนต์ต้องใช้ชิ้นส่วนมากกว่า 3 หมื่นชิ้น แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจะลดลงและเหลือเพียง 3,000 ชิ้น ตรงจุดนี้เอง นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์หลังจากนี้จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งในรูปแบบของ HEV, PHEV, BEV, FCEV ซึ่งจะมีผลต่อชิ้นส่วนที่ใช้น้อยลง อาทิ เดิมที่ใช้โครงสร้างเหล็ก ก็เปลี่ยนเป็นอะลูมิเนียม เพราะทำให้รถนํ้าหนักเบา

ในแง่การปรับตัวของผู้ประกอบการ จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น โดยในช่วงปีนี้ไปจนถึงปีหน้ายังไม่มีบริษัทรถยนต์ส่งชิ้นส่วนรถไฟฟ้ามาให้ผลิต ,ประการต่อมา เครื่องยนต์ 1 รุ่นใช้รองรับรถ 10-15 ปีหรือ 2 รุ่นตัวถัง ,ต่อมาคือการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดังนั้นเมื่อประเมินในเบื้องต้นแล้วมองว่าผู้ประกอบการยังมีเวลาที่จะปรับตัว และในช่วงภายใน 10 ปีที่จะถึงนี้ทุกบริษัทจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง

 

ขณะที่การรับมือในระยะยาวของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ประกอบไปด้วย การขยายไปสู่ตลาดทดแทน (REM) ทั้งในและต่างประเทศ รองรับตลาดทั่วโลก และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็น ออโตเมชันและไอโอที พร้อมกันนี้ต้องศึกษาการผลิตชิ้นส่วนรถอีวี มีการจับมือกับลูกค้าในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ประการสุดท้ายคือก้าวไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆอาทิ อากาศยาน

ด้านดร.ฮานกู ลี จากสถาบันเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและการค้า ประเทศเกาหลี (KIET) เปิดเผยถึงความสำเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ของเกาหลีใต้ว่าเป็นผลมาจากการสนับสนุนของภาครัฐที่มีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมิใช่แค่เพียงส่งเสริมผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน แต่ยังให้ความสำคัญกับแรงงานและการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรออกมารองรับกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเติบโต

นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดตั้งศูนย์ SUPPORT CENTER ที่มีทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆเพื่อรองรับการพัฒนาของแต่ละองค์กร โดยจะตั้งอยู่ตามเมืองต่างๆและได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

“นโยบายรัฐเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ก้าว หน้า ส่วนในไทยหากมีศูนย์ก็อาจจะช่วยพัฒนายานยนต์ให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน” 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,470 วันที่ 16 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ทิศทางยานยนต์ไทย'อีโคอีวี'รอลุ้น