โอกาสที่ซ่อน ในวิกฤติอุตสาหกรรมสื่อ

18 พฤษภาคม 2562

 

ต้องเข้าใจก่อนว่า สถานการณ์วิกฤติในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทยแห่งเดียวในโลกเท่านั้น สื่อระดับโลกทั้ง CNN รอยเตอร์ BBC ฯลฯ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคคนเสพสื่อเปลี่ยน ด้วยอุปกรณ์สื่อสารที่หลากหลาย เอเยนซีโฆษณา บริษัทห้างร้านก็เปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการอนุมัติงบโฆษณาลงในสื่อเช่นกัน

เริ่มต้นอย่างนี้เพราะจะชี้ให้เห็นสิ่งที่สืบเนื่องจากการคืนสัมปทานใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 7 ช่อง รวมย้อนไปถึงการปิดตัวของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อกระดาษจำนวนมากในประเทศไทย ที่มุมหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ วิกฤติ ในอุตสาหกรรมสื่อ ที่ตลาดแรงงานสายนี้แคบลงและมุ่งตรงไปในทางออนไลน์

ผมมีโอกาสไปนั่งประชุม “ยุทธศาสตร์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่พลาดที่จะพูดถึง เราหารือกันอย่างกว้างขวางว่าทำอย่างไรที่จะหาแนวทางมาช่วยเพื่อนพี่น้องในวิชาชีพของเราเท่าที่พอจะช่วยได้

แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้วิกฤตินี้แปรเป็น “โอกาส” สำหรับอุตสาหกรรมสื่อทั้งวงการ

โอกาสนั้นคือ 1. โอกาสที่ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลตามกฎหมาย จะได้ทบทวนการกำกับดูแลสื่อ แทนที่จะกำกับดูแลเพียงอย่างเดียว บังคับใช้กฎหมายเมื่อเจอการทำผิด แต่ต้องมีช่องทางในการอัพเกรด พัฒนาทักษะความรู้ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมสื่อ โดยกสทช.อาจจะรับเป็นเจ้าภาพเองก็ได้

2.โอกาสของการทบทวนทักษะ หรือ re skill ทักษะของตัวเองซึ่งเป็นคนในอุตสาหกรรมสื่อที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและวิชาชีพ เช่น มีความรู้ในศาสตร์แขนงต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งมีทักษะการทำงานที่ทำได้มากกว่า 1 อย่างขึ้นไป และการเปิดรับเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสื่อสาร

โอกาสที่ซ่อน  ในวิกฤติอุตสาหกรรมสื่อ

3. นี่ยังเป็นโอกาสสำหรับภาควิชาการ การเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ ที่ผลิตนักศึกษาเข้ามาทำงานในวงการสื่อสารมวลชน ก็ต้องทบทวนหลักสูตร ปรับตัวครั้งใหญ่ในการผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

 

เพราะไม่ใช่แค่เพียงวิชาชีพสื่อเท่านั้นที่กำลังปรับตัว ผมมีโอกาสไปนั่งฟังนักวิชาการ อย่าง รศ.ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ไปบรรยายในงานด้านการศึกษางานหนึ่ง ซึ่งผู้ฟังเป็นระดับผู้บริหารสถาบันการศึกษาอาชีวะกว่า 36 แห่งทั่วประเทศ

อาจารย์ธเนศ แนะนำถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพที่ต้องตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เพราะเรากำลังเผชิญกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะมาทำงานแทนคน บางคนกังวลว่าคนจะตกงานหรือไม่ แต่กลับกันคนที่ดูแลเทคโนโลยีก็มีความสำคัญ มีหน้าที่ดูแลเทคโนโลยีให้เดินต่อไปได้คือ “คน” ดังนั้นคนต้องมีทักษะสูงขึ้นไม่ใช่แค่ผลิตให้ทำงาน แต่ต้องคิดเป็น แก้ปัญหาได้ ซึ่งในยุค 4.0 คนเราต้องมีทักษะหลายด้าน หรือ Multi skill คนคนเดียวต้องหลายความสามารถ

โอกาสที่ซ่อน  ในวิกฤติอุตสาหกรรมสื่อ

“พรมแดนของศาสตร์สาขาอาชีพแคบลง และการผลิตบุคลากรต้องมีความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการเข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่การผลิตเด็กแล้วปล่อยไปตามยถากรรม ดังนั้นต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน จึงได้บุคลากรยุค 4.0 ที่พร้อมเป็นกำลังในการคิดนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป”

ดังนั้นจะเห็นว่าไม่ใช่แค่วงการสื่อเท่านั้น ที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ แต่แวดวงการศึกษาเองก็ต้องผลิตคนให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ฉะนั้น “สึนามิวิกฤติสื่อ” รอบนี้ ถ้าสายวิชาชีพและวิชาการร่วมกันตั้งหลักดีๆ นี่คือโอกาสที่แฝงมากับวิกฤติก็เป็นได้ 

อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3470 ระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤษภาคม 2562

โอกาสที่ซ่อน  ในวิกฤติอุตสาหกรรมสื่อ