โยนอีอีซีชี้ขาดNPC  ชงแก้TORมาบตาพุด3

13 พ.ค. 2562 | 00:23 น.

จากกรณีที่กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นพีซี ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลปกครองกลาง ในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการถูกตัดสิทธิ์เข้าร่วมประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเรือ F

ล่าสุดพล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้พิจารณาคำร้องของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นพีซี ที่ได้ยื่นเอกสารในซองที่ 2 ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯระบุไม่ครบตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนดทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติแล้ว โดยเห็นว่าเอกสารสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนใหม่ แม้ทางบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่นฯ ไม่ได้ลงนามในช่องที่กำหนดไว้ แต่ข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นเอกสารแบบฟอร์มทางราชการต้องทำไปตามนั้น แต่ครั้งนี้ไม่ได้เป็นแบบฟอร์มเอกสารตามราชการ ด้วยเหตุนี้ การไม่ได้ลงนามในช่อง แต่มีการลงนามในเอกสารแผ่นดังกล่าวครบถ้วนเพียงแต่ไม่ได้อยู่ในช่อง ถือว่าไม่ใช่ข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญ

“คำวินิจฉัยเห็นว่าการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ร้อง จึงมีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กลับไปทบทวน และให้ความ เป็นธรรมกับผู้ร้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐต่อไป”

ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ทบทวนเรื่องนี้นั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯจะดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการทางปกครอง พ.ศ.2539 ส่วนที่ 5 มาตรา 44,45 ที่มีการอุทธรณ์เกิดขึ้น เพราะเป็นคำสั่งทางปกครองจึงใช้วิธีตามกฎหมายทางปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวตามมาตรา 44 คณะกรรมการคำสั่งทางปกครองเห็นชอบแล้ว ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะพิจารณายืนตามคำตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกหรือมีคำตัดสินเป็นอย่างอื่น ซึ่งจะนำเสนอในการประชุมกพอ.วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 นี้

ส่วนโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุนราว 5.54 หมื่นล้านบาทนั้น นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯเข้าสู่การพิจารณาซองที่ 3 ด้านข้อเสนอด้านราคาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่เนื่องจากมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปจากทีโออาร์ ทำให้ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบใหม่ ที่คาดว่าจะพิจารณาในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ เนื่องจากทีโออาร์ระบุกนอ.จะร่วมลงทุนกับเอกชนในงานโครงสร้างพื้นฐานไม่เกินจำนวนมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 1.29 หมื่นล้านบาท อัตราคิดลด 2.5% โดยกนอ.จะเริ่มชำระให้แก่เอกชนนับจากเริ่มงาน เป็นเวลา 30 ปี ปีละเท่าๆ กัน ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ฯ และพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล ไม่สามารถไปดำเนินงานจัดหาแหล่งเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยตํ่าขนาดนี้ได้ จึงได้ขอปรับเป็นอัตราคิดลดที่ 4.8 % ซึ่งผิดไปจากเงื่อนไขเดิม จึงต้องให้ครม.เห็นชอบก่อนถึงจะมาเจรจากับเอกชนใหม่

ส่วนการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้นนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมาได้เชิญกลุ่มซีพีพิจารณาร่างสัญญาการร่วมทุนที่ผ่านการตรวจสอบสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว แต่เอกชนยังมีความพยายามยื่นข้อปรับแก้ร่างดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการฯ จะนำร่างสัญญานำเสนอกพอ.ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,469 วันที่ 12 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

โยนอีอีซีชี้ขาดNPC   ชงแก้TORมาบตาพุด3