ไทย-อินเดีย !!!! ต้นเหตุทุบราคาน้ำตาลโลกร่วงต่อเนื่องในรอบ 7 เดือน

11 พ.ค. 2562 | 06:36 น.

 

 

    วงการอ้อยและน้ำตาลเป็นอันต้องเกิดอาการหน้าแตกกันเป็นแถว เพราะก่อนหน้านี้ต่างพากันพยากรณ์ว่าปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา จะเป็นต้นเหตุสำคัญที่จะทำให้ปริมาณอ้อยและน้ำตาลมีปริมาณลดลง  และเมื่อ 2-3 เดือน ที่ผ่านมาวงการอ้อยและน้ำตาลเพิ่งประเมินว่า ภายในเดือนพฤษภาคมนี้หลังปิดหีบอ้อย ในประเทศไทยจะมีปริมาณอ้อยไม่ถึง 120 ล้านตันอ้อย บางรายก็พยากรณ์ว่าปริมาณอ้อยน่าจะอยู่ที่ระดับ 126 ล้านตันอ้อย และปริมาณน้ำตาลจะอยู่ที่ระดับ 13.5  ล้านตันน้ำตาล เช่นเดียวกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำตาลในประเทศอินเดียที่มองไปทิศทางเดียวกันว่าจะมีปริมาณน้ำตาลในประเทศไม่ถึง 30 ล้านตันน้ำตาล และพากันคาดหวังว่าถ้าปริมาณอ้อยและน้ำตาลจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ลดลงแบบนี้ ก็จะช่วยดีดให้ราคานำ้ตาลในตลาดโลกกลับมาไต่ระดับราคาสูงขึ้น

ไทย-อินเดีย !!!!  ต้นเหตุทุบราคาน้ำตาลโลกร่วงต่อเนื่องในรอบ 7 เดือน

 -ประเมินปริมาณอ้อยผิดคาด

ล่าสุดทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อตัวเลขปริมาณอ้อยในประเทศไทยอยู่ที่ 130.97 ล้านตันอ้อย มีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 14.5-14.6 ล้านตันน้ำตาล ขณะที่อินเดียมีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 33  ล้านตันน้ำตาลในปี2561/2562 

หากมองในแง่ผู้บริโภคสินค้ามีจำนวนมากน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แถมหาซื้อได้ในราคาถูกลง  แต่ถ้ามองในแง่ผู้ลงทุน บรรดากองทุนเก็งกำไรต้องรีบออกมาเทขายตั๋วน้ำตาลกันเป็นแถว เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลของไทยและอินเดียมีมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้แต่แรก เกรงว่าหากปล่อยไว้ราคาจะยิ่งร่วงลง 

ยังไม่นับรวมความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าในขณะที่เงินเรียลของบราซิลอ่อนค่าลง  เพราะบราซิลอยู่ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลกจึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญ ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาบราซิลมีการส่งออกน้ำตาลราว 18-19 ล้านตันน้ำตาล 

-ราคาน้ำตาลโลกต่ำสุดในรอบ7เดือน

แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเหนือการคาดการณ์หนนี้ ในวงการน้ำตาลต่างโฟกัสว่าไทยและอินเดีย  เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงลงมาอยู่ที่ 11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยสถานะของไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลก  ขณะที่อินเดียอยู่ในฐานะที่มีปริมาณน้ำตาลจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่บริโภคภายในประเทศ  ในขณะที่บราซิล แม้จะเป็นผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลรายใหญ่อีกรายและเป็นผู้ส่งออกเบอร์หนึ่งของโลก เพราะมีปริมาณส่งออกเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณส่งออกของโลก แต่ในช่วงที่ผ่านมาบราซิลนำอ้อยไปทำน้ำตาลลดลง และนำไปผลิตเอทานอลมากกว่า โดยปี2561/62 นำอ้อยไปทำน้ำตาลเพียง 35% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด จึงไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วงในครั้งนี้

ไทย-อินเดีย !!!!  ต้นเหตุทุบราคาน้ำตาลโลกร่วงต่อเนื่องในรอบ 7 เดือน

สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เบอร์ 2 ของโลกรองจากบราซิล ยังน่าจับตาผลผลิตรวมของปริมาณอ้อยและน้ำตาลในประเทศ หลังจากที่เกษตรกรรายย่อยที่มีราว  8,000 รายทั่วประเทศเริ่มเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยมาขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยที่ถูกต้อง เดินตามกติกา โดยชาวไร่อ้อยที่มาขึ้นทะเบียนจะต้องระบุพื้นที่ปลูกอ้อย และปริมาณการปลูกอ้อยที่จะส่งมอบให้โรงงานน้ำตาลที่เป็นคู่สัญญา

  ปัจจุบันมีชาวไร่อ้อยที่มาเข้าระบบอย่างถูกต้องรวมทั้งสิ้นประมาณ 360,000 รายทั่วประเทศ จากที่ก่อนหน้านั้นจะมีชาวไร่อ้อยรายเล็ก ขายอ้อยผ่านคนกลางหรือขายยังลานอ้อยจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีการหมุนเวียนปลูกพืชชนิดอื่นสลับกับอ้อย จึงมีความไม่แน่นอนในการขายอ้อยสูง ทำให้ที่ผ่านมาข้อมูลตัวเลขปริมาณอ้อยเข้าระบบเกิดความไม่แน่นอนและมีการคาดการณ์ผิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก และยังเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นใหม่อีกด้วย

    นายนราธิป อนันตสุข  หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และหัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าปริมาณอ้อยที่ออกมาที่ 131ล้านตันอ้อย เป็นยอดการผลิตที่ลดลง หากเทียบกับปีก่อน  เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยจะลดลงค่อนข้างรุนแรงจากผลกระทบภัยแล้ง  แต่ผลปรากฏว่าการเก็บข้อมูลของบางพื้นที่การผลิตไม่เสถียร และพบว่าพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดเล็กมีปริมาณเพิ่มขึ้น  และบางพื้นที่ไม่มีการทำสัญญาขายอ้อยโดยตรงให้กับโรงงานน้ำตาล   แต่หลังจากนี้ไปเมื่อชาวไร่อ้อยรายเล็กๆ หันมาเข้าระบบมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ข้อมูลปริมาณอ้อยมีเสถียรภาพมากขึ้น

   ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลตลอดปีนี้ยังต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะหลุดกรอบเลข 2 หลัก หรือไม่ โดยวงการน้ำตาลตั้งข้อสังเกตว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจากนี้ไปไม่น่าจะร่วงหลุดกรอบ 10 เซ็นต์ต่อปอนด์  แต่ที่แน่ๆขณะนี้ทั้งไทยและอินเดียกลายเป็นผู้เล่นรายสำคัญ ที่วงการน้ำตาลต้องจับตา  อีกทั้งชาวไร่อ้อยรายย่อยของไทยหันหน้าเข้าระบบมากขึ้น ผลผลิตอ้อยเพิ่ม ราคาน้ำตาลในตลาดโลกคงร่วงกราวรูดหรืออาจมีตัวแปรอื่นที่ทำให้ราคาพุ่งก็เป็นไปได้

ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่ที่สภาพดินฟ้าอากาศเป็นใจด้วย!!!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

ไทย-อินเดีย !!!!  ต้นเหตุทุบราคาน้ำตาลโลกร่วงต่อเนื่องในรอบ 7 เดือน