กสทช.จ่าย4พันล้าน ชดเชย 7 ช่องคืนใบอนุญาต

11 พ.ค. 2562 | 07:46 น.

กสทช. ควัก 4,000 ล้าน จ่ายชดเชยทีวีดิจิทัล 7 ช่องที่ยื่นขอคืนใบอนุญาต ทั้งช่อง 3 เอสดี/ช่อง 3 แฟมิลี่/ สปริงนิวส์ /MCOT Family / ไบรท์ทีวี /วอยซ์ทีวี และสปริง 26 ส่งผลพนักงานตกงานกว่า 1,500 ชีวิต ไม่นับโปรดักชันเฮ้าส์ คอนเทนต์โพรไวเดอร์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ครบกำหนดการยื่นขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล (10 พ.ค. 62) พบว่า มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยื่นขอคืนใบอนุญาตฯ ทั้งสิ้น 7 ช่อง ได้แก่ 3 FAMILY ช่อง 13, MCOT FAMILY ช่อง 14, สปริงนิวส์ ช่อง 19, ไบรท์ ทีวี ช่อง 20, วอยซ์ทีวี ช่อง 21, สปริง 26 ช่อง 26 และ 3SD ช่อง 28 ส่งผลให้กสทช. จะต้องจ่ายเงินชดเชยคืนให้กับผู้ประกอบการราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าว กสทช. จะนำมาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะสามารถพิจารณาเอกสารและดำเนินการเพื่อคืนเงินได้ภายใน 30-60 วันแล้วแต่กรณี 

 

 

กสทช.จ่าย4พันล้าน  ชดเชย 7 ช่องคืนใบอนุญาต

ด้านนายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)หรือ NMG กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีมติคืนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลช่อง 26 ซึ่งเป็นช่องวาไรตีที่กลุ่มบริษัทไม่ได้มีความรู้ความชำนาญ ต่อกสทช.ตามประกาศ ม.44 ที่ให้โอกาสเอกชนคืนใบอนุญาตที่ประมูลมาได้ อย่างไรก็ดีหลังการคืนใบอนุญาต บริษัทจะมุ่งมั่นในการพัฒนาเนื้อหาสาระ และรูปแบบการนำเสนอข่าวสาร อันเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม ที่มีความรู้ ความชำนาญอย่างแท้จริง ในทุก Platform ทั้ง สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และ New Media ต่อไป

กสทช.จ่าย4พันล้าน  ชดเชย 7 ช่องคืนใบอนุญาต

                                                   สมชาย มีเสน 

อย่างไรก็ดี การที่มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นขอคืนใบอนุญาตฯ ถึง 7 ช่อง ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อพนักงาน รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บริษัท ผู้ผลิตคอนเทนต์ โปรดักชันเฮาส์ ฯลฯ

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากมีผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตมากกว่า 5 ช่องนั่นหมายความว่าจะมีคนตกงานกว่า 1,500 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมผู้ผลิตรายการ หรือโปรดักชันเฮาส์ที่จะได้รับผลกระทบ ด้วยเช่นกัน เบื้องต้นมีการพูดคุยกับเลขาธิการกสทช. ในเรื่องของการคืนเงิน ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินชดเชยและนำมาจ่ายคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการคืนช่องสามารถนำเงินดังกล่าวไปชดเชยเยียวยาให้กับพนักงานได้ทันที

ทั้งนี้การยื่นขอคืนใบอนุญาตฯ ดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 และตามประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล เพื่อให้การประกอบกิจการ ดังกล่าวสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและการรับรู้ข่าวสาร รวมทั้งช่องความ ถี่ที่คืน มาจะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้งานทางด้านโทรคมนาคม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดระบบ 5G

โดยในส่วนของกิจการโทรคมนาคมนั้นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด หรือ AWN ในเครือ เอไอเอส, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ยื่นแสดงความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิ์ยืดชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตามมาตรา 44 ที่ออกคำสั่งมาช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมให้สามารถขยายระยะเวลาการชำระจากการประมูลคลื่น 900 MHz

แม้จะขอยื่นแสดงความจำนงยืดชำระค่าใบอนุญาต แต่ในส่วนการเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ปรากฏว่าผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีจุดยืนในทิศทางเดียว กันคือสงวนท่าทีด้วยเงื่อนไขที่ว่าขอดูหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 MHz ก่อนว่าจะรับหรือไม่ 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,469 วันที่ 12 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562