ปิดฉากดอกเบี้ยขาขึ้นหลังเศรษฐกิจโลกชะลอ

12 พ.ค. 2562 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกอยู่ในทิศทางผ่อนปรน หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า อาจจะยังไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้  ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยประคองการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมาก็มีมติเอกฉันท์ที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% เช่นเดียวกัน    

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางตลาดเงินปีนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกจะดำเนินนโยบายผ่อนคลาย โดยเห็นได้ชัดจากกระแส “การลดดอกเบี้ย” โดยทุกธนาคารกลางประเมินว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ควรลดดอกเบี้ยลง 0.10% และที่ผ่านมา ธนาคารกลางมาเลเซีย, นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ได้ลดดอกเบี้ยลงแล้ว ส่วนจีนเองก็ลดอัตราสำรองและภาษีลง รวมถึงกนง.เอง ล่าสุดก็มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยไว้ซึ่งสะท้อน “ดอกเบี้ยขาขึ้น” จบแล้ว ยกเว้นเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวดีอีกครั้ง 

ปิดฉากดอกเบี้ยขาขึ้นหลังเศรษฐกิจโลกชะลอ

การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย ตอกยํ้าความกังวลของธนาคารกลางและภาคธุรกิจถึงทิศทางการค้าการลงทุนจะชะงักงัน ขณะที่ความเชื่อมั่นของธนาคารกลางลดลง ทำให้เป็นช่องว่างให้นักการเมืองออกมากดดันธนาคารกลางให้ลดดอกเบี้ยลง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว นโยบายการเงิน “อ่อนแรง” แม้จะลดดอกเบี้ยลง ก็ไม่ได้ช่วยลดความผันผวนได้ 

“ในครึ่งปีหลัง มีความเป็นไปได้สูงทั้งความเสี่ยงและเศรษฐกิจโลกจะยังคงชะลอตัว เพราะมีการใช้นโยบายการคลังกันหมดแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาปรับลดภาษีเมื่อปีก่อน ส่วนเมืองไทยพยายามใช้การลงทุนภาครัฐ แต่หากล่าช้าออกไปจะทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจลากยาวออกไป ท่ามกลางการส่งออกที่ชะลอตัว ดังนั้นการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน จึงถูกตั้งคำถามจะยังไปต่ออีกหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามตลาด จะเป็นภาวะต้องดำเนินการเสียงส่วนใหญ่  เพราะหากธนาคารกลางไม่ลดดอกเบี้ย สินทรัพย์เสี่ยงจะเสี่ยงขึ้น เช่น หุ้นอาจปรับลดลงอีก และการลงทุนเอกชนอาจจะไม่ฟื้น เมื่อธนาคารกลางอยู่ในจุดถูกกดดัน อาจเห็นกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปี ยกเว้นถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ห่วงด้านเสถียรภาพ สามารถจะ
ปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2.00% ต่อปีได้ แต่เชื่อว่าปลายปีนี้หรือไตรมาส 4 จะเห็นการผลักดันนโยบายของรัฐบาลใหม่ ที่จะเข้ามากลางปีและน่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย

สำหรับแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น  ประเทศที่เงินเฟ้อตํ่ากับประเทศที่ลดดอกเบี้ยไป แล้วมีโอกาสที่เงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรในครึ่งปีหลัง โดยมีไทยรวมอยู่ด้วย คาดว่านักลงทุนจะกลับเข้าตลาดหุ้นปลายปีนี้ราว 2-2.5 หมื่นล้านบาท จากขณะนี้ที่ไหลออก 1.4 หมื่นล้านบาท และถ้านโยบายการเงินผ่อนคลายทั่วโลกทั้งปีนี้จะพลิกให้เงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากที่ไหลออก 3.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับค่าเงินบาทไทยมองว่า ปลายปีจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปีนี้เงินบาทเทียบสกุลเงินประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก ยังแพ้สกุลเงิน รูเบิล รัสเซีย(RUB)และเปโซ เม็กซิโก(MXN) ซึ่งฟื้นตัวกลับมาจากปีก่อน

ขณะที่ประเทศไทยจะมีปัญหา ถ้าราคานํ้ามันปรับตัวสูงและรวดเร็ว แม้จะมีโอกาสน้อย จากภาพเศรษฐกิจชะลอและเงินเฟ้อทั่วโลกค่อนข้างตํ่า แต่ภาพที่เห็นตั้งแต่ต้นปี ราคานํ้ามันที่ปรับเพิ่มมาจากอุปทานที่ปรับลดจากกลุ่มโอเปก และอิหร่านลดกำลังผลิตลง ซึ่งไม่สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอ แต่ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ปรับลดลงจะส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคเกษตรไทยด้วย 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,469  วันที่ 12 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ปิดฉากดอกเบี้ยขาขึ้นหลังเศรษฐกิจโลกชะลอ