เอกชน สอนเชิง พาณิชย์ สู้ศึกส่งออกขาลง

13 พ.ค. 2562 | 10:15 น.

สัมภาษณ์

จากที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศขึ้นภาษีนําเข้าสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ยังขู่จะเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนวงเงินอีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 25% ในลําดับถัดไปสร้างความตึงเครียดต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกในรอบใหม่ โดยนางคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาระบุว่า ความตึงเครียดทางการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก หลังจากเมื่อเดือนที่แล้วไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ 3.3% ลดลงจาก 3.5% ที่ได้ประเมินไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และทิศทางการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัวเพียง 3.4% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4%

ฝากการบ้านลุยรายตลาด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจว่า สรท.ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของไทยปีนี้จากขยายตัว 5% ลดลงเหลือ 3% ซึ่งเป็นการประเมินในช่วงไตรมาสที่ 1/2562 แต่จากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีนคาดจะทำให้การส่งออกของไทยปีนี้อาจไม่ขยายตัว หรือเติบโต 0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งรัดให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกได้ดูสินค้าและตลาดที่มีศักยภาพเพื่อเจาะตลาดให้ตรงกับความต้องการของตลาดและเตรียมเชิญทูตพาณิชย์และเอกชนหารือในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้เพื่อกำหนดเป้าหมายให้เหมาะสมกับทิศทางสถานการณ์ ซึ่งน่าจะเห็นภาพที่ชัดขึ้น

อย่างไรก็ดีต่อทิศทางแนวโน้มของสถานการณ์ของสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ ในส่วนของภาครัฐควรเน้นกิจกรรม Trade Mission เพิ่มมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมแยกตามกลุ่มสินค้า และแยกตามกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นการขยายฐานการตลาด รวมถึงเป็นการสำรวจกลุ่มตลาดใหม่ในปี 2562  ตัวอย่างเช่น

ตลาดแอฟริกา สินค้าที่มีศักยภาพและมีความต้องการสูงในตลาดคือ สินค้ากลุ่มอาหาร ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าไปเจาะตลาดได้

เอกชน สอนเชิง พาณิชย์ สู้ศึกส่งออกขาลง

                                                                   วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

ตลาดตะวันออกกลาง ภาครัฐควรเร่งรัดความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และซาอุดีอาระเบีย เริ่มจากการทูตเชิงพาณิชย์ทั้งในเชิงการส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผักผลไม้

ตลาดจีน การเข้าไปเจาะตลาดควรพิจารณาและให้ความสำคัญระดับมณฑลทั้ง 31 มณฑลมากขึ้น เนื่องจากแต่ละมณฑลมีลักษณะและโอกาสทางการค้าที่แตกต่างกัน เช่นกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ หรือมณฑลที่มีระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจดี แล้วจึงขยายต่อไปยังมณฑลขนาดกลางและขนาดเล็กตามลำดับ, ตลาดอินเดียในระดับมลรัฐที่มีกำลังซื้ออยู่มาก โดยจัดแมตชิ่งให้ตรงตามความต้องการของแต่ละพื้นที่

ตลาดลาตินอเมริกา กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็นที่ต้องการในตลาดกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจากปริมาณการส่างออกไปกลุ่มดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ภาครัฐควรส่งเสริมสินค้าอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น

ตลาดอาเซียนและ CLMV ภาครัฐควรจัดสรรให้งบประมาณในการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติในลักษณะเดียวกับงาน THAIFEX หรืองาน ANUGA ในประเทศที่มีศักยภาพ และเน้นยุทธศาสตร์ CLMV is our home market เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยวางจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านเสมือนวางขายในประเทศไทย

เอกชน สอนเชิง พาณิชย์ สู้ศึกส่งออกขาลง

แก้อุปสรรค-เพิ่ม FTA

ควบคู่กันภาครัฐควรเร่งแก้ไขและลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ ที่เกิดขึ้นในรูปแบบ NTBs และ NTMs เช่น การใช้มาตรการตรวจสอบสินค้าที่ใช้ระยะเวลานานและเป็นการเพิ่มต้นทุน, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอินเดียและจีนที่ต้องอาศัยการนำเข้าไม้ยางพาราจากไทย แต่สินค้าไม้ของไทยยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC ซึ่งเป็นข้อกำหนดเรื่องของการตัดไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือป่าสงวนทำให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากไทยไม่สามารถนำไม้ไปแปรรูปต่อได้ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกไม้ของไทยลดลงในตลาดสำคัญ

นอกจากนี้ควรเร่งผลักดันและเร่งเจรจาการค้าเสรี (FTA) เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้ส่งออกไทย เช่น FTA กับปากีสถาน อียิปต์ สหภาพยุโรป และ RCEP เป็นต้น รวมถึงผู้ส่งออกไทยควรสำรวจตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกระทบจากความผันผวนจากสถานการณ์การค้าโดยการหาสินค้าใหม่ๆ และพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็กที่มีศักยภาพในการส่งออก ให้กลายเป็นผู้ส่งออกที่เข้มแข็งมากขึ้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,469 วันที่ 12-15 พฤษภาคม 2562

                                                  เอกชน สอนเชิง พาณิชย์ สู้ศึกส่งออกขาลง