ครม.เคาะลดค่าโอน-จำนอง บ้านไม่เกิน1ล้านเหลือ 0.01% 

07 พ.ค. 2562 | 10:03 น.

-7 พ.ค.62-นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 7 พ.ค. 62 มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมสําหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรณีอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสําหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ  สำหรับอสังหาริมทรัพย์ราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อหน่วย โดยให้ลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เหลือร้อยละ 0.01  ลดค่าจดทะเบียนการจํานองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิมร้อยละ 1 ของมูลค่าที่จำนอง เหลือร้อยละ 0.01และผู้รับจำนองต้องเป็นสถาบันการเงินเท่านั้น การดำเนินการจดทะเบียนการโอนและจำนองต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามในประกาศของกระทรวงมหาดไทย  คาดว่าจะใช้ วงเงินงบประมาณโครงการ จํานวนรวม 1,700 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะหายไปจากการลดค่าธรรมเนียม 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพม. รายงานว่าปัจจุบันมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง จํานวน 2.87 ล้านครัวเรือน ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จําเป็นต้องใช้มาตรการหลายด้านควบคู่กันไป มาตรการดังกล่าว จะสร้างประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลดีในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  อาทิ การลดภาระและเพิ่มกําลังซื้อให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึง ปานกลางที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้สามารถตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้น และสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่ยังไม่สามารถ เข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงนักได้ง่ายขึ้น โดยจะมีครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยและ ปานกลางสามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ประมาณ 58,340 ครัวเรือน คิดเป็นจํานวนประมาณ 175,020 ราย

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สามารถช่วยลดอุปทานในตลาดอสังหาริมทรัพย์สําหรับกลุ่มผู้มีรายได้ น้อยถึงปานกลางในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เนื่องจากยังมีอุปทานคงเหลือในตลาดอยู่สูง ในขณะที่ลูกค้ายังมีความต้องการซื้อที่ อยู่อาศัยและมีความสามารถรับภาระในการผ่อนค่างวดได้ในระดับที่สูงเช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้ อีก ทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุนอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของรัฐ โครงการบ้านล้านหลัง)

 

ในส่วนของรัฐบาล เป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยการสร้างอุปสงค์ทางด้าน อสังหาริมทรัพย์โดยตรงจากรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การจ้างงานและผลักดันให้ทุกภาคส่วนนําทรัพยากรที่ยังใช้ประโยชน์ได้ อย่างไม่เต็มที่ออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น